รัชสมัย ของ พระเจ้าย็องโจแห่งโชซ็อน

แม้จะทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้วพระเจ้าย็องโจยังต้องทรงเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากฝ่ายโซนน ขุนนางฝ่ายโซนนกล่าวหาว่าฝ่ายโนนนได้กระทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าคย็องจงเพื่อนำพระเจ้าย็องโจขึ้นครองราชย์ พระเจ้าย็องโจจึงทรงประกาศแผนการเพื่อความสมานฉันท์ (탕평책, 蕩平策)[2] ในปีค.ศ. 1728 เป็นการประกาศยุติการแบ่งฝ่ายของขุนนางและลงโทษขุนนางที่แสดงออกเป็นฝักฝ่าย แต่กลายเป็นว่าขุนนางฝ่ายโซนนกลายเป็นเป้าโจมตีถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้ขุนนางฝ่ายโซนนต้องโทษและถูกเนรเทศออกราชสำนักจนหมด ฝ่ายโนนนจึงขึ้นมามีอำนาจ จนทำให้ขุนนางฝ่ายโซนนที่ถูกเนรเทศ นำโดย อีอินจวา (이인좌, 李麟佐) ก่อการกบฏในปีค.ศ. 1729 เพื่อยึดบัลลังก์ให้กับองค์ชายมิลพง (밀풍군, 密豊君 โหลนของ องค์ชายรัชทายาทโซฮย็อน) แต่ฝ่ายพระเจ้าย็องโจก็สามารถปราบปรามกบฏลงได้ ทำให้ฝ่ายโซนนถูกกวาดล้างไปหมดสิ้น

ในสมัยพระเจ้าย็องโจ การค้าของโชซ็อนพัฒนาขึ้นมามาก[3] ผู้คนในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชาวบ้านถึงขุนนางพากับประกอบธุรกิจการค้า ชนชั้นพ่อค้าเรืองอำนาจและได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักในการผูกขาดสินค้าแต่ละชนิดให้เป็นของตน เป็นการละทิ้งแนวความคิดแบบขงจื้อเดิม ที่ประมาณอาชีพค้าขายว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ แต่ถ้าจะเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างราชวงศ์ชิงหรือญี่ปุ่นแล้ว กิจกรรมการค้าในเกาหลีนั้นยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น เพียงแต่จากเดิมที่กิจกรรมการค้าจะมีนานๆทีก็กลายเป็นมีทุกวัน โดยเฉพาะในฮันยาง

องค์ชายรัชทายาทสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. 1728 ได้รับพระนาม องค์ชายรัชทายาทฮโยจัง (효장세자, 孝章世子) พระเจ้าย็องโจจึงทรงขาดรัชทายาท จนกระทั่งพระสนมย็องบิน ตระกูลอี (영빈 이씨, 暎嬪 李氏) ประสูติพระโอรสในค.ศ. 1735 ในขณะที่พระมเหสีไม่มีพระโอรส พระเจ้าย็องโจจึงทรงตั้งขึ้นเป็น ภายหลังได้รับพระนาม องค์ชายรัชทายาทซาโด (사도세자, 思悼世子)

นโยบายความสมานฉันท์ของพระเจ้าย็องโจทำให้รัชสมัยของพระองค์ค่อนข้างสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายขุนนาง เป็นผลให้ประเทศเกาหลีมีโอกาสพัฒนาในด้านต่างๆ พระเจ้าย็องโจยังทรงได้ชื่อว่าทรงห่วงใยราษฎรโดยการเสด็จออกนอกวังไปเยี่ยมและถือความเดือดร้อนของราษฎรเป็นสำคัญ อย่างที่กษัตริย์เกาหลีเพราะองค์ก่อนๆไม่เคยทำ เรียกได้ว่า พระเจ้าย็องโจทรงเข้าใกล้ความเป็นกษัตริย์ในอุดมคติตามลัทธิขงจื้อ ทรงลดความหรูหราของราชสำนัก เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือทรงแม้แต่ห้ามการดื่มสุรา ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของพระองค์ และยังทรงเลิกการใส่วิกผมของสตรีชั้นสูง[4]

แม้ว่าพระเจ้าย็องโจจะทรงไม่เลือกฝ่ายขุนนาง แต่ในรัชสมัยของพระองค์นั้นขุนนางส่วนใหญ่มากจากฝ่ายโนนนทั้งสิ้น นำโดยคิมฮันกู (김한구, 金漢耉) พระราชบิดาของพระมเหสี และฮงพงฮัน (홍봉한, 洪鳳漢) พระบิดาของพระชายาขององค์ชายรัชทายาท เมื่อค.ศ. 1749 พระเจ้าย็องโจทรงตั้งองค์ชายรัชทายาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทน (승명대리, 承命代理)[5]องค์ชายรัชทายาทซึ่งตลอดมาถูกขุนนางฝ่ายโนนนโจมตีนั้น ทรงหันไปหาขุนนางฝ่ายโซนน ซึ่งหมดอำนาจไปตั้งแต่ต้นรัชกาล ทำให้องค์ชายรัชทายาททรงเป็นที่เพ่งเล็งของพระเจ้าย็องโจและขุนนางฝ่ายโนนน

องค์ชายซาโด

ดูบทความหลักที่: องค์ชายรัชทายาทซาโด

พระเจ้าย็องโจทรงเข้มงวดกับองค์ชายรัชทายาทอย่างมาก จนสร้างความเครียดให้กับองค์ชายรัชทายาทจนทรงเสียพระสติ ทรงเข่นฆ่าข้าราชบริพารและนางรับใช้ แอบลักลอบออกไปประพาสนอกพระราชวัง จนในค.ศ. 1762 ขุนนางฝ่ายโนนนที่ชื่อว่า นาคย็องออน (나경언, 羅景彦) ซึ่งน้องชายได้ถูกองค์ชายรัชทายาทสังหาร ได้ถวายฎีกาขอให้พระเจ้าย็องโจทรงลงพระอาญาองค์ชายรัชทายาท ขุนนางฝ่ายโนนนพากันรบเร้าให้พระเจ้าย็องโจทำตามฎีกาของนาคย็องออน พระเจ้าย็องโจยังทรงลังเลอยู่จนกระทั่งพระสนมย็องบิน[6] พระราชมารดาขององค์ชายรัชทายาท ขอให้พระเจ้าย็องโจทรงทำตามเพื่อความสงบของประเทศ องค์ชายรัชทายาทจึงทรงถูกปลดและลงพระอาญาให้เสด็จเข้าไปอยู่ในกล่องไม้ใส่ข้าว หลังจากผ่านไปเจ็ดวัน อดีตองค์ชายรัชทายาทก็สิ้นพระชนม์

ต่อมาภายหลังพระเจ้าย็องโจทรงคืนตำแหน่งให้แก่อดีตองค์ชายรัชทายาท พระนามว่า องค์ชายรัชทายาทซาโด เหตุการณ์สำเร็จโทษองค์ชายรัชทายาทซาโดนั้นทำให้เกิดการแตกแยกครั้งใหม่ในหมู่ขุนนาง คือ ฝ่ายที่เห็นชอบกับการสำเร็จโทษขององค์ชายรัชทายาทยาทซาโด เรียกว่า ฝ่ายพยอกพา (벽파, 僻派) และฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับการสำเร็จโทษองค์ชาย และควรจะคืนตำแหน่งและเกียรติยศให้ดังเดิม เรียกว่า ฝ่ายชิพา (시파, 時派) ราชสำนักจึงเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความขัดแย้งอีกครั้ง

เมื่อค.ศ. 1775 พระเจ้าย็องโจทรงตั้งพระนัดดารัชทายาท (왕세손, 王世孫) ที่เป็นพระโอรสขององค์ชายรัชทายทาซาโด เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ท่ามกลางการต่อต้านจากขุนนางฝ่ายพยอกพา พระเจ้าย็องโจสวรรคตในค.ศ. 1776 พระนัดดารัชทายาทขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าช็องโจ มีพระสุสานพระนามว่า ว็อนนึง (원릉, 元陵)

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ