พระอิสริยยศ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ_กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

  • หม่อมเจ้าจุมภฏพงษ์ บริพัตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2447 – 12 มกราคม พ.ศ. 2448)
  • พระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร (12 มกราคม พ.ศ. 2448 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)[3]
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 6 มกราคม พ.ศ. 2454)[4]
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร (6 มกราคม พ.ศ. 2454 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495)[5]
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 – 15 กันยายน พ.ศ. 2502)[6]

พระเกียรติคุณ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศสถาปนาขึ้นเป็น พระหลานเธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ตั้งแต่พระประสูติกาลได้หนึ่งเดือน และต่อมาสมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระนามเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และประกาศยกขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โดยลำดับ ครั้นครงเจริญพระวัยขึ้น พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ก็ยิ่งเป็นที่สนิทสิเนหาของสมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช ได้ทรงพระกรุณาใช้สอยใกล้ชิดพระองค์เป็นเนืองนิจ ในส่วนคุณวุฒิการศึกษานั้ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ก็ได้ทรงรับการศึกษามาเป็นอย่างดี สมควรแก่พระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ กล่าวคือ ในระหว่างปีพุทธศักราช 2454 ถึงปีพุทธศักราช 2461 ได้ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาสามัญในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 6 ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษ ในระหว่างปีพุทธศักราช 2464 ถึงปีพุทธศักราช 2468 ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนแฮโรว์ จนจบหลักสูตร แล้วจึงได้เข้าศึกษาในหอไครสต์เชอช แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จนสำเร็จได้รับเกียรติปริญญาตรี ในวิชาปรัชญา วิชารัฐศาสตร์ และวิชาเศรษฐศาสตร์ แล้วเสด็จกลับเข้ามายังกรุงเทพฯ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพฯ ปีพุทธศักราช 2468 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารให้เป็น ร้อยตรี นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปีพุทธศักราช 2473 ได้ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดี ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ปีพุทธศักราช 2474 ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเลขานุการกระทรวง รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นอำมาตย์ตรี และเลื่อนยศทหารเป็น ร้อยโท นายทหารพิเศษในสังกัดเดิม

ครั้นในปีพุทธศักราช 2476 ได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิทยาการเพิ่มเติม ณ ประเทศอังกฤษอีก ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งเดิม ได้ทรงรับเกียรติปริญญาโท เมื่อปีพุทธศักราช 2478 ได้ทรงสอบได้เนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อปีพุทธศักราช 2480

ถึงแม้ว่า พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร เมื่อเสด็จกลับจากต่างประเทศตอนหลัง จะมิได้มีโอกาสทรงกลับเข้ารับราชการอีก ก็ได้ทรงดำรงพระองค์อยู่ในพระจริยาวัตรอันดีงาม ทรงรอบรู้ในศิลปวิทยาสมควรแต่ขัตติยชาติ ทรงเอาพระทัยใส่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานพระราชพิธีอยู่เนืองนิจ และทรงรับพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตามควรแก่โอกาส ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จนิวัตสู่พระนคร ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ในฐานะเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่อันสูงศักดิ์ และต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปีพุทธศักราช 2491 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย อันเป็นตำแหน่งมีเกียรติสูง พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร ก็ได้ทรงพระอุตสาหพยายามบริหารกิจการในหน้าที่ให้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ อาทิเช่น ได้ทรงจัดสรรหน่วยพยาบาลไปช่วยราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี และเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นภายในพระนคร ก็เสด็จไปทรงบัญชาการบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และประทับแรมอยู่ที่กองอำนวยการตลอดเวลาโดยมิได้เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนพระองค์และหวาดเกรงต่อภยันตราย จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบและตระหนักในพระอุตสาหของพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร และพระราชทานกระแสพระราชนิยมมาแต่เมืองโลซันน์ ชมเชยเป็นประการต่างๆ

สำหรับในด้านกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ทรงช่วยเหลือสนับสนุนร่วมมือในเรื่องการศึกษาวิชาแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นอย่างดี ตลอดจนการจัดงานวันอนามัยโลก ก็ได้ทรงเอาพระทัยใส่อำนวยกิจการให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์เป็นลำดับ

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ได้ทรงบำเพ็ญกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระบรมราชตระกูลมาโดยลำดับ สมกับที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงมั่นอยู่ในสุจริตสัมมาจารี มีความจงรักภักดีเด่นชัดอยู่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม เพื่อเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศแห่งราชกุลบริพัตร ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต่อไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต" นาคนาม ทรงศักดินา 11000 ตามอย่างธรรมเนียมพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวง[7]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าวรวงศ์เธอ_กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต http://www.suanpakkad.com/whatnews-t3.html http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2447/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/...