พระประวัติ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระโสทรภราดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

พระบิดาเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ส่วนพระมารดามีศักดิ์เป็นพระภาติยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระโสทรอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ทรงเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์[2] โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม หลังจากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษวิทยาลัยอีตัน (Eton College)[3] และทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Academy Sandhurst) สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร หลังจากนั้นได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้ารับราชการทหาร โดยทรงบรรจุเข้ารับราชการในกองบัญชาการกองทัพบก พระยศว่าที่ร้อยตรี[4] หลังจากนั้นได้โอนไปเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล จนถึงปี พ.ศ. 2491 หลังจากนั้นได้โอนกลับไปรับราชการทหารที่กองทัพบก จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในขณะมีพระยศพันเอก สังกัดศูนย์การทหารม้า ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศพลตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2531

พระองค์ชายกลางกับนาฏศิลป์ไทย

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เป็นเจ้านายที่ทรงพระปรีชารอบรู้และฝักใฝ่พระทัยในศิลปะและวรรณคดี และทรงเกื้อกูลและอุปถัมภ์ศิลปะและศิลปินตลอดมา ทรงชักชวนให้ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนเรื่องงานศิลป์เกี่ยวกับโขนต่อไปหลังจากที่ได้เขียนเรื่องโขนเมื่อหลายปีมาแล้ว และทรงโปรดให้จัดพิมพ์หนังสือ ศิลปละคอนรำ หรือ คู่มือนาฏศิลปไทย (พิมพ์ครั้งแรก) โดย ธนิต อยู่โพธิ์ ในงานฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 29 เมษายน 2516 และพระองค์ชายกลางยังได้มีพระเมตตาฝากฝังนายแจ้ง คล้ายสีทอง ให้เรียนเสภากับนายเจือ นายแจ้งจึงได้วิธีการขับเสภาไหว้ครู รวมทั้งเกร็ดย่อยอื่นๆเพิ่มขึ้น ในที่สุดจึงเป็น นายแจ้ง คล้ายสีทอง ของคนฟังเพลงไทยและคนฟังเสภาทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม[5]"

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ยังได้ก่อตั้งคณะละครขึ้นมา ชื่อว่า คณะละครนาฏราช โดยเสด็จพระองค์ชายกลางได้มีพระปรารภกับครูบุญยงค์ เกตุคง ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยที่มีฝีมือมากในขณะนั้นว่า มีพระประสงค์ให้แต่งเพลงประจำคณะละครของท่านสักเพลงหนึ่ง ครูบุญยงค์ เกตุคง ก็ได้แต่งถวายตามพระประสงค์ โดยได้นำเอาทำนองเพลงดับควันเทียนที่เป็นเพลงสุดท้ายในชุดเพลงเรื่องเวียนเทียนใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่มีความมงคลมาเป็นแนวทางในการแต่งให้อยู่ในรูปของเพลงตระ จึงได้นำหน้าทับตระในอัตราจังหวะ 2 ชั้นมาใช้ จึงได้ออกมาเป็นเพลงหน้าพาทย์เพลงใหม่ชื่อเพลงตระนาฏราช ไปถวายเสด็จพระองค์ชายกลาง ต่อมาเพลงตระนาฏราชได้นำมาใช้ในการการแสดงครั้งแรกโดยการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ทางช่อง 4 บางขุนพรหม ก่อนที่จะมีการแสดงละครโดยคณะละครนาฏราช ก็จะมีเสียงเพลงตระนาฏราชขึ้นพร้อมกับผู้กำกับการแสดง ชื่อนักแสดง ผู้สร้าง ผู้สนับสนุนรายการต่าง ๆ เป็นการเปิดตัวของคณะละครนาฏราชมาตลอด โดยทั่วไปพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลปไทยจะมีผู้ประกอบพิธีและวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตลอดการประกอบพิธี เพลงหน้าพาทย์โดยทั่วไปเป็นเพลงหน้าพาทย์เก่าที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็มีการใช้เพลงตระนาฏราชบรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูเช่นกัน ซึ่งได้เริ่มใช้หลังจากที่เกิดเพลงตระนาฏราชขึ้นโดยคณะศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้นำมาใช้บรรเลงเป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครู แต่จะบรรเลงเฉพาะเมื่อผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระนาฏราชเท่านั้น ก็มีใช้กันจนในหมู่ศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง มาจนถึงปัจจุบัน[6]

นอกจากนี้ เสด็จพระองค์ชายกลาง ยังทรงมีความเกี่ยวพันกับตำนานการสร้าง พระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้คือ คุณอนันต์ คนานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 จากคุณอนันต์มาหนึ่งองค์โดยทรงบูชาติดตัวเป็นประจำ โดยครั้งหนึ่งรถยนต์พระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่พระองค์เองไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้พระองค์ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อย่างสูง และเมื่อทางวัดโดยพระอาจารย์ทิม และ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 พระองค์ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง และได้นำชนวนโลหะอันศักด์สิทธิ์มาเทหล่อเป็นเนื้อโลหะต่างๆ ที่กรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นพระหลวงพ่อทวด รุ่น พ.ศ. 2505 ที่ลือลั่นมาจนถึงปัจจุบัน[7] ในการจัดสร้างพระครั้งนั้น เนื่องด้วยเสด็จพระองค์ชายกลางเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และพระองค์ท่านยังได้จัดสร้าง "พระกริ่ง" อันงดงามด้วยพุทธลักษณะขึ้นในครั้งนั้นด้วย เมื่อทำการหล่อพระกริ่งได้โปรดให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้น และเททองปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้พร้อมกันกับพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 ครั้นเสร็จจากพิธีเสด็จ ท่านได้ถวายพระกริ่งซึ่งสำเร็จขึ้นมีพุทธลักษณะงดงามให้กับวัดช้างให้จำนวน 300 องค์ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า "พระกริ่งใหญ่หลวงปู่ทวด" หรือ "พระกริ่งวัดช้างให้" ส่วนที่เหลือทรงนำมาถวายให้วัดตาก้อง ด้วยเหตุที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร นั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และปลุกเสกอีกวาระโดยเกจิอาจารย์สายนครปฐม ผู้คนเรียกขานกันว่า "พระกริ่งเฉลิมพล" รวมถึงในคราวฉลองครบวาระ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ยังได้ทรงเป็นองค์ประธานการจัดงานสมโภชน์เฉลิมฉลองในวาระดังกล่าวและมีการปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นประวัติศาสตร์ อนุสรณ์ 200 ปี พ.ศ.2531 โดยพระคณาจารย์ทั่วประเทศอีกด้วย[8]

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ด้วยโรคพระหทัยวาย สิริพระชันษา 78 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ และพระราชทานพระโกศมณฑปทรงพระศพ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ประดิษฐานพระศพ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส และในการนี้ทรงพระกรุณาฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[9]

ภายหลังสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูพระเกียรติ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”[10]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร http://www.dmgbooks.com/site/product.asp?intProdID... http://freepages.genealogy.rootsweb.com/~royalty/t... http://www.soravij.com/yugala.html http://www.debsirinalumni.org/main_hof.php?type_1=... http://www.culture.go.th/cul_fund/download/bygone/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/D/...