ประวัติ ของ พร้อม_บุญฤทธิ์

เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ตรงกับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรคนแรกของ พลัด-แปรง บุญฤทธิ์ บิดาคือ นายพลัด บุญฤทธิ์ เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง ที่รู้จักกันในนาม “หนังกรายชายแดน” นายพร้อม บุญฤทธิ์ ได้มีโอกาสติดตามบิดาไปในการแสดงหนังตะลุงตามสถานที่ต่างๆ จนเมื่ออายุ 11 ปี จึงได้รับการ “ครอบมือ” หรือ “ยื่นรูป” จาก “หนังสีหมอก” ครูหนังชั้นนำในสมัยนั้น จากนั้น จึงออกตระเวนไปแสดงหนังตะลุงตามสถานที่ต่างๆ จนมีชื่อเสียง

ในยุคแรกหนังพร้อมน้อยใช้ชื่อในการแสดงคือหนัง"พร้อมน้อย" ในยุคสมัยนั้นมีคณะหนังตะลุงที่โด่งดังในภาคใต้อีกหนึ่งคณะ คือ"หนังพร้อม อัศวิน" หรือหนังพร้อมใหญ่ อ.ควนเนียง จ.สงขลา ครั้งหนึ่งที่หนังพร้อมน้อยเดินทางไปแสดงที่วัดศิลาราย(วัดป่าขี้ดิน) ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช คณะเจ้าภาพเขียนป้ายหน้าวัดไว้ว่า คืนนี้พบกับการแสดงของ "หนังพร้อมน้อย อัศวิน ด.เด็กขี้เซา" ซึ่งล้อเลียนให้พ้องกับชื่อ"หนังพร้อม อัศวิน" หนังพร้อมน้อยชอบชื่อนี้มาก จึงใช้ชื่อในการแสดงว่า "หนังพร้อมน้อย อัศวิน ด.เด็ก"ต่อมาหนังพร้อมน้อย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงโดยนำเครื่องดนตรีสากลอันได้แก่ กลองชุด กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด มาบรรเลงกับเครื่องดนตรีหนังตะลุง เป็นคณะแรก เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย และเปลี่ยนชื่อที่ทำการแสดงมาเป็น"หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล" นับแต่นั้นเป็นต้นมา

พร้อมน้อย ได้ประชันขันแข่งกับหนังตะลุงและมโนราห์มาแล้วมากมาย ยกเว้นหนังตะลุงเพียง 2 คณะ ที่ไม่ได้แข่งขัน คือ หนังกั้น ทองหล่อ กับหนังประวิง หัวไทร เท่านั้น นอกนั้นประชันหมด นอกนั้นก็มีการประชันกับมโนราห์ เช่น มโนราห์พิน พัน มโนราห์ฉลวย มโนราห์ปรีชา มโนราห์แปลก มโนราห์ขำคม มโนราห์หนูพร้อม ฯลฯ

หนังพร้อมน้อย เป็นบุคคลที่มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จนในที่สุดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดพัทลุง 3 สมัย

ปัจจัยที่ทำให้เขากลายเป็นยอดนายหนังตะลุงของชาวใต้ ประกอบด้วย

  1. เสียงดี เสียงดัง ฟังชัด เล่น 7-8 ชั่วโมงไม่มีแหบ แถมยังเลียนเสียงได้หลายเสียงด้วย
  2. มีความรอบรู้ทั้งทางโลก-ทางธรรม และใกล้ชิดประชาชนทำให้นำมาสอดแทรกได้เป็นอย่างดี
  3. สามารถสวมวิญญาณให้กับรูปหนังได้ทุกตัว และสับเปลี่ยนได้โดยฉับพลัน
  4. มีไหวพริบปฏิภาณสูง นำเหตุการณ์บ้านเมืองและท้องถิ่นมาดัดแปลงได้ดี
  5. สร้างอารมณ์ขันได้ตลอดเวลา
  6. สามารถจำบทกลอนในวรรณคดีมาใช้ได้ลงตัว
  7. ลูกคู่มีมากถึง 11 คนและเล่นดนตรีได้ถูกใจทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น
  8. สร้างชีวิตให้กับรูปตัวตลกได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะคู่นายหลำ-นายยอดทอง และนายหนูนุ้ย-นายเท่ง ซึ่งสำหรับนายหลำกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเลยทีเดียว

หนังพร้อมน้อยได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จมากมาย และได้รับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี พ.ศ. 2546

ใกล้เคียง

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ พร้อมเพย์ พร้อมสิน สีบุญเรือง พร้อม บุญฤทธิ์ พร้อมพงษ์ พร้อมมิตร โปรดักชั่น พร้อมพงษ์ กรานสำโรง พระอมิตาภพุทธะ พรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ พรอม คืนเดียวต้องเปรี้ยวซะ