ประวัติ ของ พอร์เชอ

ดร.แฟร์ดีนันท์ พอร์เชอ ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นในปีค.ศ. 1931 มีสำนักงานหลักอยู่ในเมืองชตุทท์การ์ท[1] เดิมทีรับงานเป็นที่ปรึกษาและช่วยออกแบบรถยนต์เท่านั้น[1] ไม่ได้คิดจะสร้างยี่ห้อรถยนต์ของตัวเอง หนึ่งในงานด้านการปรึกษาของบริษัทนี้คือการรับงานจากรัฐบาลเยอรมันให้ออกแบบรถยนต์ราคาถูกเพื่อประชาชนชาวเยอรมัน และก็ได้ออกมาเป็น "รถเต่าฟ็อลคส์วาเกิน" หนึ่งในรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของโลก[2] รถยนต์พอร์เชอ 64 ซึ่งพัฒนาขึ้นในปีค.ศ. 1939 ก็ใช้อะไหล่ส่วนใหญ่ร่วมกับรถเต่า[1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[3] ก็ได้ย้ายสายการผลิตไปผลิตรถฟ็อลคส์วาเกินสำหรับทหาร ได้แก่รุ่นคือเบลวาเกิน (Kübelwagen) ผลิตกว่า 52,000 คัน[3] กับรุ่นชวิมวาเกิน (Schwimmwagen) ผลิตกว่า 15,000 คัน นอกจากนี้ บริษัทพอร์เชอยังเป็นผู้ออกแบบรถถังหนักในช่วงสงคราม แม้ว่าบริษัทพอร์เชอจะพ่ายแพ้ต่อบริษัทคู่แข่งในการประมูลผลิตรถถังทีเกอร์ 1 และทีเกอร์ 2 แต่ก็ใช่ว่างานที่จะมาจะสูญเปล่าซะทีเดียว แชสซีที่พอร์เชอออกแบบไว้สำหรับรถถังทีเกอร์ 1 ถูกนำไปใช้เป็นฐานในการสร้างรถถังพิฆาตเอเลอฟันท์ (Elefant) พอร์เชอยังเป็นผู้พัฒนาสุดยอดรถถังหนัก เมาส์ ในช่วงปลายสงคราม[4]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปีค.ศ. 1945 เมืองว็อลฟส์บวร์คอันเป็นที่ตั้งของโรงงานพอร์เชอก็ตกอยู่ในเขตยึดครองของอังกฤษ อดีตสมาชิกพรรคนาซีอย่างดร.พอร์เชอจึงถูกปลดจากตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารของฟ็อลคส์วาเกิน ทางการอังกฤษแต่งตั้งพันตรีอีวาน เฮียร์ช นายทหารช่างอังกฤษ เข้ามาควบคุมโรงงานพอร์เชอ[5] และในปลายปีนั้นเอง ดร.พอร์เชอถูกจับกุมในฐานะอาชญากรสงคราม แต่การไต่สวนกลับไม่เคยเกิดขึ้น ตลอดช่วงเวลายี่สิบเดือนที่เขาถูกจองจำ นายแฟร์รี บุตรชายของดร.พอร์เชอ ตัดสินใจตั้งบริษัทสร้างรถยนตร์ของตัวเองเนื่องจากเขาไม่พบรถยนต์ที่ตรงตามความต้องการของเขาในตลาด เขายต้องคอยประคับประคองบริษัทที่เขาสร้างนี้ให้ผ่านช่วงเวลาลำบากไปให้ได้

ภายหลังดร.พอร์เชอถูกปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1947[6] รถยนต์ยี่ห้อพอร์เชอแบบแรกถูกสร้างขึ้นในโรงเลื่อยในเมืองกมึนด์[6] เมืองชนบทในประเทศออสเตรีย รถยนต์คันต้นแบบนี้ถูกนำไปโชว์แก่ดีลเลอร์รถยนต์หลายแห่งในเยอรมนี และเมื่อมียอดพรีออเดอร์ถึงจำนวนที่เพียงพอ การผลิตเริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1948 โดยบริษัทของบุตรชายขึ้นและได้ออกมาเป็นพอร์เชอ 356 บริษัทของลูกชายถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหลักของบิดาในเมืองชตุทท์การ์ทในปีค.ศ. 1950