ประวัติ ของ พิงค์แพนเตอร์

วิชัย ปุญญะยันต์ และ วิรัช อยู่ถาวร อดีตสมาชิกวง ซิลเวอร์แซนด์(Silver Sand) ที่ยุบไป ร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อวง "พิงค์แพนเตอร์" ซึ่งชื่อนี้มาจากคุณวิชัยเกิดตรงกับปีเสือ(พ.ศ. 2493) และชื่นชอบตัวการ์ตูนพิงค์แพนเตอร์ แต่ วิรัช ได้ขอลาออกหลังจากนั้นไม่กี่เดือน เนื่องจากมีงานสอนดนตรีที่สยามกลการและมีปัญหาทางสุขภาพ

ต่อมา วิชัย ปุญญะยันต์ ได้เข้ารับตำแหน่งมิวสิคไดเรคเตอร์ให้กับบริษัท อีเอ็มไอ โดยเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ผู้ร้องไกด์ และนำวงพิงค์แพนเตอร์เล่นดนตรีบันทึกเสียงให้กับศิลปินต่างๆ ในสังกัด อาทิ วงชาตรี, จันทนีย์ อูนากูล, สุชาติ ชวางกูร เป็นต้น กระทั่งคุณประมาณ บุษกร ผู้บริหารของบริษัท[3]ได้แนะนำให้วงมีอัลบั้มเพลงเป็นของตนเอง จึงเกิดอัลบั้มชุดแรกคือ "สายชล" ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งมีเพลง สายชล แต่งโดย จันทนีย์ อูนากูล แต่เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงเป็นอย่างมากกลับเป็นเพลง "รักฉันนั้นเพื่อเธอ" ซึ่งแต่งโดย ชรัส เฟื่องอารมย์ โดยเอาทำนองเพลง Yume Oi Sake ของญี่ปุ่น มาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย และได้มีการเปลี่ยนชื่อชุดตามชื่อเพลงยอดนิยมดังกล่าวในภายหลัง ทำยอดขายนับแสนตลับ [4] และเป็นศิลปินกลุ่มแรกที่ขึ้นเวทีถาวรของรายการโลกดนตรี ข้างอาคารห้องส่งททบ. 5 ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2527

พิงค์แพนเตอร์ออกอัลบั้มชุดต่อมาให้กับอีเอ็มไอ ได้แก่ "ไกลเกินฝัน" (2526) มีเพลง รอยเท้าบนผืนทราย เป็นเพลงฮิต, "วิมานในฝัน" (2527), "นางนวล"(2527), "จุดหมายนั้นฉันมีเธอ" (2528), "รักพี่นะ" (2529) และ "สิ้นสายสัมพันธ์" (2529) จากนั้นจึงเปลี่ยนเข้าสังกัด ท็อปไลน์, นิธิทัศน์ และร่วมงานกับ แกรมมี่ ตามลำดับ โดยออกอัลบั้มเพลงใหม่และเพลงเก่าจากศิลปินคนอื่น รวมถึงนำเพลงของตนเองมาบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่ แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าสมัยก่อน[5]

ทางวงได้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกวงอยู่หลายครั้งตามยุคสมัย เหลือเพียง วิชัย และบางคน ที่ยังดำเนินวงอยู่ สมาชิกเด่นๆ ได้แก่ ณรงค์ อับดุลราฮิม, อดุลย์ วงษ์แก้ว, ประจวบ สินเทศ, ธนพล ไตรเวทย์(แดง แฟนทาสติก), กรองทอง ทัศนพันธ์, ปนิตา ทัศนพันธ์(ทายาทของครูสมยศ ทัศนพันธ์) และ โสรยา สิรินันท์(นางเอกละครโทรทัศน์เรื่อง เจ้าซอใจซื่อ)[1] นอกจากนี้ยังรับทำเพลงประกอบโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆ มากมาย และมีห้องบันทึกเสียงของตนเอง[6]

เอกลักษณ์ที่สำคัญของวง ได้แก่ การใช้เสียงดนตรีที่ต้องอาศัยนักดนตรีกลุ่มเครื่องสาย เช่น ไวโอลิน วิโอลา จากวงดุริยางค์กองทัพเรือ และกรมศิลปากรเข้าเสริมในหลายๆ เพลงทั้งในภาคบันทึกเสียงอัลบั้มและภาคแสดงสด ทำให้การเรียบเรียงเสียงประสานดูขลังและกลมกลืนจนน่าติดตาม[4] กับการแต่งกายแบบสูทของสมาชิกวงทุกคนทั้งชายหญิง แม้แต่หน้าปกเทปของวงในยุคต้นๆ ยังใช้ภาพวาดตัวการ์ตูนต้นแบบมาแสดงเข้ากับคอนเซ็ปต์หรือชื่อของอัลบั้ม จึงเป็นที่จดจำของแฟนเพลงมาเนิ่นนาน

ผลงานการโปรดิวเซอร์

วงพิงค์แพนเตอร์

สุนทราภรณ์ แกรมมี่โกลด์ซีรี่ส์ (2542)