ข้อบ่งใช้ ของ พิทาวาสแตติน

ไฟล์:Livalo.jpgพิทาวาสแตติน ชนิดเม็ด ขนาด 1, 2 และ 4 มิลลิกรัม ตามลำดับ จากซ้ายไปขวา ของสถาบันโควะ ฟาร์มาซูติคอลส์ สหรัฐอเมริกา (Kowa Pharmaceuticals America Inc.)

เช่นเดียวกันกับยากลุ่มสแตตินชนิดอื่นๆ พิทาวาสแตตินมีข้อบ่งใช้สำหรับภาวะที่มีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูง (hypercholesterolaemia) และใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease)[2][3]

ในปี ค.ศ. 2009 การศึกษาทางคลินิกที่มีชื่อว่า "LIVES" ซึ่งทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับพิทาวาสแตตินมากถึง 20,000 คน เพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาดังกล่าวหลังจากการวางตลาด โดยติดตามเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 104 สัปดาห์ พบว่า พิทาวาสแตตินมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นสูง (High density lipoprotein cholesterol; HDL-C) และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride; TG) ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีระดับ HDL-C ต่ำกว่า 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งจะมีระดับ HDL-C เพิ่มขึ้นได้มากถึง 24.6% จากค่า HDL-C พื้นฐานเดิมของผู้ป่วย และมีการลดลงของ TG เฉลี่ย 19.9% จากค่า TG พื้นฐานเดิมของผู้ป่วย นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าพิทาวาสแตตินมีความสัมพันธ์กับการลดลงของระดับคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low density lipoprotein cholesterol; LDL-C) ในกระแสเลือดลงได้มากถึง 29.1% จากค่า LDL-C พื้นฐานเดิมของผู้ป่วย หลังจากระยะเวลา 4 สัปดาห์นับจากเริ่มการรักษา[7][8] โดยระดับ HDL-C ที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถพบการเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากสแตตินชนิดอื่นมาเป็นพิทาวาสแตติน[8] สอดคล้องกับการศึกษาเชิงสังเกตที่มีชื่อว่า CIRCLE observational study ซึ่งทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยากลุ่มสแตตินชนิดต่างๆ ทำการศึกษาในผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นจำนวน 743 คน ในช่วง ค.ศ. 2001-2008 โดยติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยาพิทาวาสแตตินเป็นระยะเวลา 70 เดือน พบว่ายาดังกล่าวสามารถเพิ่มระดับ HDL-C ได้มากกว่าอะโทวาสแตติน และเป็นยากลุ่มสแตตินเพียงชนิดเดียวที่สามารถเพิ่มระดับ HDL-C ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาสแตติน ส่วนผลการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นพบว่าพิทาวาสแตตินมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับยากลุ่มสแตตินชนิดอื่นๆ[9][10] 

ส่วนผลของพิทาวาสแตตินต่อระดับน้ำตาลในเลือดนั้นอาจส่งผลดีต่อการควบคุมระดับในเลือดของผู้ป่วย ดังนั้นพิทาวาสแตตินจึงดูเหมือนว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเมทาบอลิค อย่างเช่น โรคเบาหวาน ร่วมกับมีระดับ LDL-C ที่สูงแต่มีระดับ HDL-C ในเลือดต่ำ โดยผลการวิเคราะห์แบบกลุ่มย่อยของการศึกษา  "LIVES" ที่ได้กล่าวไปดังข้างต้นพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้พิทาวาสแตตินเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมีการลดลงของระดับ HbA1C และมีการเพิ่มขึ้นของ eGFR อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังร่วมด้วย[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พิทาวาสแตติน http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.44456... http://www.expresspharmapulse.com/20050303/inthene... http://www.modernmedicine.com/modern-medicine/cont... http://www.sciencedaily.com/releases/2013/03/13031... http://www.kowapharmaceuticals.eu/assets/dl/about_... http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cder/drugsat... http://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnoun... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17957184 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19907105 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21673458