พิธีการ ของ พิธีขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์

ตามกฎหมายแล้ว การขึ้นครองราชย์เป็นเพียงพิธีการ เพราะผู้สืบทอดราชบัลลังก์จะดำรงพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์โดยอัตโนมัติทันทีเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคตหรือสละราชสมบัติ พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์พระองค์สุดท้ายที่ดำรงพระอิสริยยศจนกระทั่งเสด็จสวรรคตคือพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 3 โดยมีพระราชธิดาสืบทอดราชบัลลังก์เป็นพระราชินีนาถวิลเฮลมินา ซึ่งไม่ได้ทรงประกอบพิธีขึ้นครองราชย์โดยทันทีที่พระราชบิดาสวรรคตเนื่องจากยังทรงพระเยาว์ พระราชินีเอ็มมา พระราชชนนี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างปี พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2441 ต่อมาพระราชินีนาถวิลเฮลมินาสละราชสมบัติและส่งมอบราชบัลลังก์แก่พระราชธิดา พระราชินีนาถยูเลียนา ในปี พ.ศ. 2491 การสืบทอดราชบัลลังก์จากการสละราชสมบัติอย่างจงใจของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเช่นนี้ เกิดในเนเธอร์แลนด์ต่อมาอีกสองครั้งคือ พระราชินีนาถยูเลียนาแก่พระราชินีนาถเบียทริกซ์ ในปี พ.ศ. 2523 และพระราชินีนาถเบียทริกซ์แก่พระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ในปี พ.ศ. 2556

พิธีเริ่มต้นด้วยการที่พระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และคณะรัฐมนตรีนำโดยนายกรัฐมนตรี ประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ณ โถงพิธีการในพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม พระมหากษัตริย์ลงพระนามาธิไธยในเอกสารทางกฎหมายว่าด้วยการสละราชสมบัติ ต่อมาลงพระอธิไธยโดยองค์รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นจึงจะถูกลงนามโดยสมาชิกคณะรัฐบาลเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทันทีที่เอกสารถูกลงนามอย่างครบถ้วนแล้ว การขึ้นครองราชย์จึงจะมีผลโดยสมบูรณ์ ต่อมาพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน (ผู้สละราชสมบัติ) และพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จฯ ออกมายังบริเวณบัญชรของพระราชวัง เพื่อปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนผู้รอคอยอยู่ภายนอก

ภายหลังการลงพระนามาภิไธย พระอภิไธย และนามในเอกสารทางกฎหมาย พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จฯ จากพระราชวังไปยังโบสถ์นิวเวอร์แคร์ก (Nieuwe Kerk) ที่ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์และคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติประชุมกันโดยพร้อมเพรียง

ภายในโบสถ์ สัญลักษณ์ของพระเกียรติภูมิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อันได้แก่ มงกุฎ ลูกโลกประดับกางเขน กระบี่อาญาสิทธิ์ และคทา ถูกวางบนเบาะรองสีแดง มงกุฎเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจอธิปไตยและพระเกียรติภูมิ คทาแสดงถึงพระราชพันธกิจและลูกโลกประดับกางเขนแสดงถึงดินแดนภายในราชอาณาจักร เครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกสองชิ้นได้แก่ กระบี่อาญาสิทธิ์ (แสดงถึงพระราชอำนาจ) และธงพระอิสริยยศแห่งราชอาณาจักรประดับตราแผ่นดินของเนเธอร์แลนด์ จะถูกประคองไว้โดยเจ้าหน้าที่ทหารชั้นสูง โดยมีสำเนารัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์รายล้อมรอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์อยู่

ต่อมามหาดเล็กร้องประกาศการเสด็จฯ ถึงโบสถ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จากนั้นจึงจะเสด็จฯ ขึ้นประทับบนราชบัลลังก์ตรงข้ามกับแท่นวางเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์อ่านพระราชดำรัสจากแท่นบังลังก์และตรัสคำสาบานอย่างเคร่งขรึมว่าจะทรงค้ำชูรัฐธรรมนูญและปกป้องประชาชนในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ แล้วจึงจะตามมาด้วยเสียงร้องชโยจากสาธารณชน

จากนั้นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์รายบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตนด้วยการชูมือซ้ายขึ้นสาบานพร้อมกับกล่าวว่า "พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าอย่างแท้จริง" (ดัตช์: Zo waarlijk helpe mij God almachtig) หรือกล่าวปฏิญาณอย่างเรียบง่ายว่า "ข้าพเจ้าตกลง" (ดัตช์: Ik beloof dat)[1]

ภายหลังจากพิธีกล่าวคำควายบังคมโดยสมาชิกรัฐสภาเสร็จสิ้นลงแล้ว พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ ออกจากโบสถ์กลับไปยังพระราชวัง ตามมาด้วยพิธีรับรองอย่างเป็นทางการภายในพระราชวัง

ใกล้เคียง

พิธีขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ พิธีขอฝน พิธีรับขวัญ พิธีสำเร็จการศึกษาในประเทศไทย พิธีกรรม พิธีสารเกียวโต พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 พิธีไหว้ครู พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์