ประวัติ ของ พุทธชยันตี

คำว่า สัมพุทธชยันตี หรือ พุทธชยันตี สันนิษฐานว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 ในประเทศศรีลังกา[5] และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ (2500th Buddha Jayanti Celebration) โดยนำคำ Buddha Jayanti (बुद्ध जयंती) ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศ พม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย[6][7]

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษในครั้งนั้น ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการนำของ ดร.บี.อาร์.อามเพฑกร นำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ การสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ และนอกจากนี้ ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ยังได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธอุบัติภูมิอีกด้วย

[8] ในประเทศพม่า ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปาสาณคูหาเพื่อการทำฉัฏฐสังคีติสังคายนาพระไตรปิฎก[9] สำหรับในประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศศรีลังกาหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ด้วย[10]

โดยในส่วนของประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้มีการฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีนี้ด้วย โดยจัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มีการจัดสร้างพุทธมณฑล การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ[11]1 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม[12] พระราชบัญญัติล้างมลทิน[13] มีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราวด้วย[14] นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนั้นในประเทศไทย ได้ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ"[15] ทำให้คำว่า "พุทธชยันตี" ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเหมือนประเทศอื่น ๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พุทธชยันตี http://www.alittlebuddha.com/News%202012/March%202... http://www.ananda-guruge.com/Jayanti1.htm http://sambuddhatvajayanthi.com/ http://www.siamturakij.com/home/news/print_news.ph... http://www.watthailumbini-th.org/index.php?lay=sho... http://www.dailynews.co.th/article/342/15095 http://www1.mod.go.th/heritage/religion/misc/prese... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/...