ฟลิโรเวียม
ฟลิโรเวียม

ฟลิโรเวียม

ฟลิโรเวียม (อังกฤษ: Flerovium, เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /flɨˈroʊviəm/)[1] เป็นชื่อของธาตุกัมมันตรังสีที่มีหมายเลขอะตอม 114 สัญลักษณ์ธาตุคือ Fl มีไอโซโทปที่มีเลขมวลระหว่าง 285-289 ซึ่งไอโซโทปที่มีครึ่งชีวิตนานที่สุด คือ 289Fl ซึ่งมีครึ่งชีวิตนาน 2.6 วินาที ก่อนการเปลี่ยนชื่อเป็นฟลิโรเวียม โดย IUPAC เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[2] ธาตุนี้เคยใช้ชื่อชั่วคราวว่า "อูนอูนควอเดียม" (อังกฤษ: Ununquadium) มีสัญลักษณ์คือ Uuq ชื่อ "ฟลิโรเวียม" ตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวรัสเซีย เกออร์กี ฟลิโอรอฟ ผู้ก่อตั้งสถาบันร่วมเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ (Joint Institute for Nuclear Research) ในเมืองดุบนา ประเทศรัสเซียการศึกษาทางเคมีซึ่งดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฟลิโรเวียมมีคุณสมบัติที่ไม่ใช่ของเอกา-ลีด และปรากฏว่าเป็นธาตุหนักยิ่งยวด (superheavy element) ธาตุแรกที่แสดงคุณสมบัติคล้ายกับแก๊สเฉื่อยเนื่องจากผลสัมพัทธภาพ[3]ธาตุดังกล่าวถูกค้นพบเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ที่สถาบันร่วมเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ในรัสเซีย การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2542[4] แต่การค้นพบครั้งนั้นไม่ได้รับการยืนยันเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 คณะทำงานร่วมของ IUPAC ได้ตีพิมพ์รายงานการค้นพบโคเปอร์นิเซียมซึ่งคณะฯ ได้รับรองการค้นพบไอโซโทป 283Cn และเป็นการค้นพบฟลิโรเวียมโดยพฤตินัยเช่นกัน จากการยอมรับข้อมูลของการสังเคราะห์ 287Fl และ 291Uuh ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 283Cn[5] เมื่อปี พ.ศ. 2554 IUPAC ประเมินการทดลองของทีมสถาบันร่วมเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ระหว่าง พ.ศ. 2542-2550 ขณะที่องค์การพบว่าข้อมูลในระยะแรกนั้นไม่อาจให้ข้อสรุปได้ แต่ผลการทดลองระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกลักษณ์ของธาตุ 114[6]