รัชสมัย ของ ฟาโรห์เนคทาเนโบที่_1

การขึ้นมาสู่พระราชอำนาจและพระราชวงศ์

ฟาโรห์เนคทาเนโบเดิมทีแล้วเป็นแม่ทัพจากเมืองเซเบนนิโตส เป็นบุตรชายของนายทหารคนสำคัญนามว่า ดเจดฮอร์ กับสตรีที่ปรากฏนามเพียงบางส่วนเท่านั้นนามว่า [...]มู[6] จารึกที่พบในเมืองเฮอร์โมโพลิส[7] ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงบางอย่างว่า พระองค์ทรงเข้ามามีพระราชอำนาจโดยการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ และอาจจะสำเร็จโทษฟาโรห์พระองค์สุดท้ายจากราชวงศ์ที่ยี่สิบเก้าแห่งอียิปต์พระนามว่า ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2[8] มีข้อเสนอความเห็นที่ว่า ฟาโรห์เนคทาเนโบทรงได้รับความช่วยเหลือในการทำการยึดพระราชอำนาจโดยนายพลชาบริอัสแห่งเอเธนส์ โดยพระองค์ขึ้นปราบดาภิเษกในช่วงราว 379 หรือ 378 ปีก่อนคริสตกาลทั้งที่ในเมืองซาอิสและเมืองเมมฟิส[9] และทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากเมืองเมนเดสมาอยู่ที่เมืองเซเบนนิโตสแทน[10]

ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับฟาโรห์ในราชวงศ์ก่อนหน้านั้นยังไม่ชัดเจนนัก พระองค์ได้ทรงแสดงความเคารพเพียงเล็กน้อยต่อทั้งฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 และฟาโรห์อาโชริส ซึ่งเป็นพระราชบิดาของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 โดยเรียกอดีตฟาโรห์พระองค์แรกว่า กษัตริย์ผู้ไร้ความสามารถ และพระองค์หลังว่า กษัตริย์ผู้แย่งชิง[11][12] ดูเหมือนว่าพระองค์จะให้ความสำคัญกับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ซึ่งแต่ก่อนเชื่อว่าอาจจะเป็นพระราชบิดาหรือพระราชอัยกาของฟาโรห์เนคทาเนโบ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเชื่อกันว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากการตีความผิดพลาดของประชุมพงศาวดารเดมอติก[8] แต่อย่างไรก็ตาม มีการเสนอว่าทั้งฟาโรห์อาโชริส และฟาโรห์เนคทาเนโบ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตกับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง[12]

และทราบเพียงว่า ฟาโรห์เนคทาเนโนที่ 1 มีพระราชโอรสพระนามว่า ฟาโรห์ทีออส ซึ่งเป็นผู้สิบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากรพระองค์ และเจ้าทจาฮาปิมู[8]

กิจกรรมภายในพระราชอาณาจักร

มุขหน้าของวิหารแห่งไอซิสที่ฟิเล

ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 ทรงเป็นผู้สร้างและผู้ซ่อมแซมที่ยิ่งใหญ่เท่าที่อียิปต์ไม่เคยเห็นมาก่อน[11] พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวิหารหลายแห่งทั่วพระราชอาณาจักร[13]

บนเกาะอันศักดิ์สิทธิ์แห่งฟิเล ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอัสวาน พระองค์ทรงโปรดให้เริ่มสร้างวิหารแห่งไอซิส ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในอียิปต์โบราณโดยการสร้างส่วนหน้าขึ้น[13][14] พระองค์ยังทรงโปรดให้สร้างเสาแรกในบริเวณขัณฑสีมาแห่งอามุน-เร ที่คาร์นัก และเชื่อกันว่ามัมมิซิ (วิหารขนาดเล็กในสมัยอียิปต์โบราณที่สร้างติดกับวิหารขนาดใหญ่) ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งพบที่เมืองเดนเดรานั้นถูกโปรดให้สร้างขึ้นโดยพระองค์[14][15] ลัทธิบูชาสัตว์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเริ่มเด่นชัดระหว่างสองช่วงการยึดครองของชาวเปอร์เซีย (ช่วงราชวงศ์ที่ยี่สิบเจ็ดและราชวงศ์ที่สามสิบเอ็ด) ได้รับการสนับสนุนจากพระองค์เช่นกัน ตามหลักฐานจากการค้นพบทางโบราณคดีที่เมืองเฮอร์โมโพลิส, เฮอร์โมโพลิส ปาร์วา, ซาบต์ เอล-ฮินนา และเมนเดส ได้ค้นพบการก่อสร้างเพิ่มเติมที่สั่งโดยพระองค์ในอาคารทางศาสนาที่เมืองเมมฟิส ทานิส และเอล-คับ[15][16]

เสาแรกแห่งคาร์นัก

ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 ยังมีพระราชหฤทัยต่อเหล่าพระนักบวชอีกด้วย โดยในบันทึกพระราชโองการที่ระบุถึงในปีแรกแห่งรัชสมัยและจารึกที่ค้นพบที่เมืองนอคราทิส ซึ่งกำหนดให้ใช้ภาษีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เก็บจากการนำเข้าและจากการผลิตในท้องถิ่นในเมืองนี้สำหรับวิหารแห่งเทพีนิธที่เมืองซาอิส[17] เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการค้นพบจารึกแฝด 2 ชิ้นในเมืองเฮราคลีออนที่จมอยู่ใต้น้ำ[18] ศิลาดังกล่าวมาจากเมืองเฮอร์โมโพลิส ซึ่งวางไว้หน้าเสาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้ระบุถึงรายการการบริจาคของฟาโรห์เนคทาเนโบแก่เทพเจ้าในท้องถิ่น และการบริจาคอื่น ๆ ยังได้มอบให้กับนักบวชของฮอรัสที่เอ็ดฟูอีกด้วย[17] ความฟุ่มเฟือยของฟาโรห์เนคทาเนโบได้แสดงความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อเหล่าเทพเจ้า ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ถือความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและสำหรับการใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ[11]

ใกล้เคียง

ฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์อูนัส ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ฟาโรห์เมเนส ฟาโรห์โจเซอร์ ฟาโรห์อาโมสที่ 2