ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์
ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์

ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์

ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ (อังกฤษ: Ebbinghaus illusion) หรือ วงกลมทิตเชะเนอร์ (อังกฤษ: Titchener circles) เป็นภาพลวงตาลวงการรับรู้เกี่ยวกับขนาดวัตถุ มีชื่อตามนักจิตวิทยาชาวเยอรมันผู้ค้นพบ คือ เฮอร์แมนน์ เอ็บบิงก์เฮาส์ (ค.ศ. 1850–1909) แต่เพราะว่านักจิตวิทยาชาวอังกฤษชื่อว่า เอ็ดวารด์ ทิตเชะเนอร์ เป็นบุคคลที่กล่าวถึงภาพลวงตานี้ในตำราจิตวิทยาทดลอง (experimental psychology) และทำภาพนี้ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ชนที่พูดภาษาอังกฤษ ดังนั้น ภาพลวงตานี้จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "วงกลมทิตเชะเนอร์"[1] แบบของภาพที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ ภาพมีวงกลมขนาดเท่ากันสองวงอยู่ติด ๆ กัน วงกลมหนึ่งล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ ๆ ในขณะที่อีกวงกลมหนึ่งล้อมรอบด้วยวงกลมเล็ก ๆโดยเอาชุดวงกลมมาวางต่อกัน วงกลมตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ ๆ ดูเล็กกว่าวงกลมที่ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็ก ๆงานวิจัยเร็ว ๆ นี้เสนอว่า องค์ประกอบสำคัญสองอย่างที่ทำให้เกิดการลวงก็คือ ระยะทางของวงกลมที่ล้อมรอบจากวงกลมตรงกลาง และความสมบูรณ์ของวงที่ล้อมรอบ ภาพลวงตานี้จึงคล้ายกับภาพลวงตาอีกอย่างหนึ่งคือ Delboeuf illusionคือ ถ้าวงกลมที่ล้อมรอบอยู่ใกล้วงกลมตรงกลาง วงกลมตรงกลางดูใหญ่กว่า และถ้าวงกลมล้อมรอบอยู่ไกล วงกลมตรงกลางก็จะดูเล็กกว่า โดยไม่สำคัญว่า วงกลมตรงกลางและวงกลมล้อมรอบจะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันถึงแม้ว่า ตัวแปรคือระยะทางจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเห็นภาพลวง แต่ว่าตัวแปรคือขนาดของวงกลมที่ล้อมรอบก็ยังเป็นตัวจำกัดว่า วงกลมที่ล้อมรอบนั้นสามารถจะอยู่ชิดกับวงกลมตรงกลางได้ขนาดไหน จึงทำให้งานวิจัยหลายงาน สับสนตัวแปรสองอย่างนี้[1]ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์มีบทบาทสำคัญในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่ของทางสัญญาณสองทาง (วิถีประสาทสองทาง) เพื่อการรับรู้ (perception) และเพื่อการกระทำ (action) ในระบบสายตา[2] คือ มีการเสนอว่า ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ทำการรับรู้เกี่ยวกับขนาดให้บิดเบือน แต่ไม่มีผลกับการกระทำงานวิจัยของนักประสาทวิทยาศาสตร์ เม็ลวิน กูดเดล์ แสดงว่า เมื่อให้สัตว์ทดลองตอบสนองต่อวัตถุกลม ๆ ที่มีอยู่จริง ๆ โดยจัดระเบียบเลียนแบบภาพลวง ด้วยการจับวัตถุกลมที่ตรงกลาง การปรับขนาดของมือเพื่อจับวัตถุนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ได้รับอิทธิพลจากการรับรู้ที่บิดเบือนนั้น คือสัตว์ทดลองเห็นขนาดผิด แต่กลับคว้าจับวัตถุได้เป็นปกติ[3] แม้จะมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ยืนยันว่า ภาพลวงตาที่หลอกขนาดเช่นภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ ไม่มีผลต่อการปรับขนาดของมือเพื่อจับวัตถุ แต่ก็มีงานอื่น ๆ อีกที่แสดงว่า ภาพลวงตามีผลต่อทั้งการรับรู้ และทั้งการกระทำ[4]งานวิจัยที่ใช้อุปกรณ์สร้างภาพในประสาท (neuroimaging) เสนอว่า มีสหสัมพันธ์เชิงผกผัน (inverse correlation) ระหว่างความไวของบุคคลต่อภาพลวงตาประเภทเดียวกับภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ (เช่น Ponzo illusion) กับขนาดของคอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิที่ต่าง ๆ กันไปในแต่ละบุคคล คือคอร์เทกซ์ของบุคคลยิ่งใหญ่ ภาพก็มีประสิทธิภาพในการลวงตาน้อยลง (และนัยตรงกันข้ามก็จริงด้วย)[5] ส่วนงานวิจัยด้านช่วงพัฒนาการเสนอว่า การลวงตานั้นอาศัยความไวต่อสิ่งแวดล้อม (คือวัตถุที่อยู่แวดล้อม)คือ เมื่อทำการทดสอบกับเด็กวัย 10 ขวบและน้อยกว่านั้น เทียบกับนักศึกษามหาวิทยาลัย การลวงตาโดยเทียบขนาดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในผู้ใหญ่ผู้มีความไวต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าในเด็กน้อยผู้ไม่มีความไวต่อวัตถุที่แวดล้อม[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ http://www.nature.com/neuro/journal/v14/n1/full/nn... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1467-... http://www.allpsych.uni-giessen.de/karl/pdf/51.dyn... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1374953 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16124270 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16366795 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20691202 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21131954 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3012031 //doi.org/10.1016%2F0166-2236+(92)+90344-8