ประวัติ ของ ภาษาคาไรม์

จุดกำเนิดของชาวคาไรต์ที่นับถือศาสนายูดาย

ศาสนายูดายของชาวคาไรต์ต่างจากศาสนายูดายของชาวยิว เพราะไม่ได้ใช้คัมภีร์มิซนะห์และทัลมุด คำว่าคาไรม์มาจากศัพท์ภาษาฮีบรู קרא แปลว่าอ่าน ส่วนคำว่าคาไรต์มาจากภาษากลุ่มเตอร์กิก หมายถึงกลับ

ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายเข้ามา ชุมชนชาวยิวอยู่แยกจากกันเนื่องจากการเมือง สภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม แต่เมื่อศาสนาอิสลามแพร่เข้ามา ชาวยิวส่วนใหญ่รวมเป็นกลุ่มก้อนภายใต้การปกครองชองชาวมุสลิม ชุมชนชาวยิวเหล่านี้เป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง พยายามตั้งกฎของตนเอง กฎของมุสลิมไม่ได้มีผลต่อกิจกรรมทางศาสนาแต่มีผลต่อสังคม ทำให้เปลี่ยนมาใช้ภาษาอาหรับและรับวัฒนธรรมอิสลามทางด้านอาหาร การแต่งกายและการติดต่อทางสังคม ภายในสังคมของชาวยิวเอง แรบไบต่างๆพยายามโน้มน้าวให้ชาวยิวยอมรับทัลมุดเป็นกฎของสังคม ในขณะที่ชาวยิวบางส่วนไม่ยอมรับ จึงเกิดความหลากหลายภายในศาสนายูดายขึ้น ศาสนายูดายของชาวคาไรต์เริ่มต้นในเมโสโปเตเมียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14

ชาวคาไรต์ในไครเมียและลิทัวเนีย

จุดกำเนิดของชาวคาไรต์ที่มาอยู่ในไครเมียยังไม่แน่นอน เพราะขาดหลักฐานที่แน่ชัด เอกสารส่วนใหญ่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวคาไรต์กับชุมชนอื่นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-24 เอกสารส่วนใหญ่ระบุถึงชุมชนชาวคาไรต์ที่ถูกเผาเมื่อพ.ศ. 2279 ระหว่างที่รัสเซียรุกรานรัฐข่านตาตาร์[2] นักวิชาการบางส่วนเสนอว่าชาวคาไรต์เป็นลูกหลานของพ่อค้าที่เข้ามาในไครเมียตั้งแต่สมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์[3]และได้พัฒนาภาษาของตนที่เป็นภาษากลุ่มเตอร์กิกในช่วงที่อยู่ในไครเมียนี้เองมีเอกสารเกี่ยวกับการอพยพของชาวคาไรต์จากอิสตันบูลไปยังไครเมียซึ่งบันทึกโดยชาวยิวในอิสตันบูลเมื่อ พ.ศ. 1746[4] การก่อตั้งชุมชนพ่อค้าในไครเมียน่าจะเริ่มต้นขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19โดยกลุ่มพ่อค้าที่ติดต่อระหว่างไครเมีย เอเชียกลางและจีน[5]

ในอีกทางหนึ่งมีทฤษฎีว่าชาวคาไรต์ในไครเมียเป็นลูกหลานของเผ่าคาซาร์ที่เปลี่ยนมาใช้ภาษาคาไรม์ สมมติฐานที่สามกล่าวว่า ชาวคาไรต์เป็นลูกหลานของเผ่าอิสราเอลจากยุคแรกของการอพยพหลบหนีกษัตริย์อัสซีเรีย โดยเป็นเผ่าที่อพยพไปสู่เทือกเขาคอเคซัสเหนือแล้วจึงเข้าสู่คาบสมุทรไครเมีย

จุดกำเนิดของชาวคาไรต์ในลิทัวเนียมีความชัดเจนกว่า โดยกลุ่มชนนี้มาจากไครเมีย ใน พ.ศ. 1935 แกรนด์ดุ๊กเวียตาตุสแห่งลิทัวเนียปราบชาวตาตาร์ไครเมียได้ และอพยพชาวคาไรต์ในไครเมีย 330 ครอบครัวไปสู่ลิทัวเนีย ชาวคาไรต์ในลิทัวเนียแยกกันอยู่อย่างเป็นอิสระ และรักษาลักษณะเฉพาะของตนไว้ได้ โดยยังคงใช้ภาษากลุ่มเตอร์กิก แทนที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นอื่นๆในบริเวณนั้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาคาไรม์ http://www.ethnologue.com/show_lang_family.asp?cod... http://www.suduva.com/virdainas/atamyz.htm http://karaim.institute/narod.ru/activity/lgd-1.rt... http://karaim.institute/narod.ru/activity/lgd-2.rt... http://karaim.institute/narod.ru/activity/lgd-3.tx... http://karaim.institute/narod.ru/index-htm http://www.turkiye.net/sota/karaim.html http://www.turkiye.net/sota/karalit.html http://www.karaimi.org/index_en.php?p=301 http://www.unesco.org/culture/ich/index.php?pg=001...