สถานะทางสังคมและวัฒนธรรม ของ ภาษาลัซ

ภาษาลัซไม่มีสถานะเป็นภาษาราชการทั้งในตุรกีและจอร์เจีย และไม่มีระบบการเขียนที่เป็นมาตรฐาน ชาวลัซจะใช้ภาษาราชการในประเทศที่ตนอยู่เป็นภาษาที่สอง ในจอร์เจีย ภาษาลัซเขียนด้วยอักษรจอร์เจีย ส่วนในตุรกีเขียนด้วยอักษรละติน จำนวนผู้พูดภาษาลัซเริ่มลดลง

ภาษาลัซไม่ได้เป็นภาษาราชการทั้งในตุรกีและจอร์เจีย ไม่มีมาตรฐานในการเขียน ใช้เป็นภาษาในครอบครัวและการสื่อสารระหว่างคนกลุ่มเดียวกัน การใช้ทางธุรกิจ การศึกษาจะใช้ภาษาตุรกีหรือภาษาจอร์เจียขึ้นกับประเทศที่อาศัย ภาษาลัซเป็นภาษาที่มีลักษณะพิเศษสำหรับกลุ่มภาษาคอเคซัสใต้ที่ผู้พูดภาษานี้ส่วนใหญ่อยู่ในตุรกีมากกว่าจอร์เจีย เนื่องจากไม่มีภาษามาตรฐานระหว่างภาษาลัซสำเนียงต่างๆ ผู้พูดภาษานี้ที่มาจากต่างบริเวณกันจะสื่อสารด้วยภาษาตุรกี ระหว่าง พ.ศ. 2473–2481 ซาน (ลัซและเมเกรเลีย) เป็นเขตปกครองตนเองในจอร์เจียและใช้ภาษาซาน แต่ไม่มีการกำหนดภาษามาตรฐาน ความพยายามในการสร้างภาษาเขียนในซานล้มเหลว

ในตุรกี ภาษาลัซใช้เป็นภาษาเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2527 โดยใช้อักษรละตินแบบที่ใช้เขียนภาษาตุรกี แม้ว่าการใช้อักษรจอร์เจียจะเหมาะกับเสียงในภาษาลัซมากกว่า แต่เนื่องจากผู้พูดภาษานี้อยู่ในตุรกี การใช้อักษรจอร์เจียจึงเป็นไปได้ยาก ใน พ.ศ. 2534 มีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Nana-nena (ภาษาแม่) เสนอให้ชาวลัซใช้ทั้งอักษรละตินและอักษรจอร์เจีย พจนานุกรมภาษาลัซ-ตุรกีเล่มแรกตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542

ผู้พูดภาษาลัซจะได้รับการศึกษาเป็นภาษาตุรกีหรือภาษาจอร์เจียทำให้พุดได้สองภาษา ภาษาตุรกีมีอิทธิพลต่อคำศัพท์ของภาษาลัซมาก การใช้ภาษาลัซส่วนใหญ่จะใช้ในครอบครัวทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้ภาษาลัซอย่างเต็มที่ ใน พ.ศ. 2547 Mehmet Bekâroğlu หัวหน้าพรรคเฟลิซีตี (Felicity) ในตุรกีและเป็นผู้ใช้ภาษาลัซเป็นภาษาแม่ เสนอให้มีรายการวิทยุออกอากาศเป็นภาษาลัซ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ