ประวัติ ของ มณฑลเพชรบูรณ์

การจัดตั้งครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2443 (นับแบบเก่า พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118)) กระทรวงมหาดไทยได้ยกบริเวณเพชรบูรณ์ตั้งขึ้นเป็นมณฑลหนึ่ง แยกออกมาจากมณฑลนครราชสีมา และให้ยกเมืองหล่มศักดิ์มารวมอยู่ในมณฑลเพชรบูรณ์ด้วย แต่เมืองเลย เมืองแก่นท้าว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นกับเมืองหล่มศักดิ์เดิมนั้น ให้คงอยู่ในมณฑลฝ่ายเหนือตามเดิม[1]

ภายหลังเมืองหล่มสักได้ถูกยุบลงเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์ จึงทำให้มณฑลนี้มีอยู่เมือง (จังหวัด) เดียว

การยกเลิกครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกมณฑลเพชรบูรณ์และรวมมณฑลเพชรบูรณ์เข้ากับมณฑลพิษณุโลก ด้วยเหตุผลที่ว่า มณฑลเพ็ชร์บูรณ์เปนมณฑลที่มีหนทางไกลกันดาร ประกอบด้วยการไข้เจ็บ แม้ว่าจะเปนมณฑลที่มีท้องที่อุดมด้วยการเภาะปลูกก็ดี แต่การเภาะปลูกมีน้อยยังไม่เจริญ ผลประโยชน์แผ่นดินที่จะพึงได้ ไม่พอกับการใช้จ่ายสำหรับตั้งเปนมณฑล[2]

การจัดตั้งครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2450 (ร.ศ. 126) กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยแยกออกจากมณฑลพิษณุโลก เนื่องจาก มณฑลเพ็ชร์บูรณ์มีอาณาเขตร์ท้องที่กว้างใหญ่ หนทางเปนที่กันดารห่างไกลจากมณฑลพิศณุโลก ข้าหลวงเทศาภิบาลและข้าราชการทางมณฑลพิศณุโลกจะไปตรวจตราราชการก็ไม่ใคร่ทันท่วงที[3]

การยกเลิกถาวร

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 รัฐบาลได้ยกเลิกมณฑลเพชรบูรณ์และรวมมณฑลเพชรบูรณ์เข้ากับมณฑลพิษณุโลกเป็นการถาวร เนื่องจากมณฑลเพชรบูรณ์มีเพียง 2 เมือง (จังหวัด) ประชากรมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเมือง ๆ เดียวในมณฑลอื่น ๆ ประกอบกับสถานการณ์โจรผู้ร้ายชุกชุมเบาบางลง และการคมนาคมด้วยรถไฟสายเหนือสะดวกขึ้นแล้ว[4]