ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชาย

ตราประจำโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชายฉะเชิงเทรา


มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชาย ต่อมาเมื่อโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชายย้ายไปตั้งใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทางราชการได้ปรับปรุงโดยการขยายสถานที่เดิมให้กว้างขวางขึ้น โดยขอใช้ที่ดินจากทางการทหารและจัดซื้อเพิ่มเติม จัดสร้างหอนอนและเรือนพักครูแล้วย้ายนักเรียนสตรีแผนกฝึกหัดครูซึ่งเรียนรวมอยู่กับนักเรียนสตรีประจำจังหวัดฉะเชิงเทราดัดดรุณี มาเรียนแทนในปี พ.ศ. 2483 โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด เปิดสอนหลักสูตรครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) จึงถือได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้ถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2483 จากนั้นก็ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ กล่าวคือ
พ.ศ. 2485 ได้เปิดสอนหลักสูตรครูประชาบาล (ป.ป.) และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา ต่อมาได้ตัดหลักสูตรครูประชาบาล และหลักสูตรครูประกาศนียบัตรจังหวัดออกปีละชั้นจนหมดในปี พ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2495 ตามลำดับ

พ.ศ. 2493 เปิดสอนหลักสูตรครูมูล และในปี พ.ศ. 2494 เปิดสอนหลักสูตรฝึกหัดครูประถม (ป.ป.) ซึ่งเป็นการเปิดสอนนักเรียนฝึกหัดครู ป.ป. หญิงเป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาคของไทย ในระยะนี้เองที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสถานที่ทดลองปรับปรุงส่งเสริมการศึกษา โดยความร่วมมือขององค์การระหว่างประเทศหลายองค์การ ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งอนามัยโลก (WHO) องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) มีชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินงานในโครงการนี้จากหลายชาติ คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนต์ แคนาดา อินเดีย ศรีลังกา และญี่ปุ่น ในการนี้ทางโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทราได้ให้ความร่วมมือกับโครงการ โดยจัดสถานที่ไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้โรงเรียนต่าง ๆ ใช้เป็นสถานที่ประชุม การสาธิตการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและประเทศต่างๆ

พ.ศ. 2498 มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดยใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) แทนหลักสูตร ป.ป. โดยรับนักเรียนชายเข้าเรียนด้วย จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา เป็น โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา สังกัดกรมการฝึกหัดครู ซึ่งตั้งขึ้นในปีนี้เอง ในช่วงถัดมาโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทราได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านอาคารสถานที่และด้านการเรียนการสอน โดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาและองค์การ ยูนิเซฟ (UNICEF) และได้มีโครงการฝึกหัดครูชนบทขึ้นในระยะนี้ด้วย

วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา

ตราประจำวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา


1 ตุลาคม พ.ศ. 2513 โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา ได้รับการสถาปนาเป็น วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ทั้ง ภาคปกติและภาคค่ำ (Twilight) ในด้านอาคารสถานที่ได้มีการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแทนอาคารเรียนไม้ที่มีอยู่แต่เดิม และมีอาคารอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

พ.ศ. 2518 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา จึงได้รับการยกฐานะตามพระราชบัญญัติให้สามารถผลิตครูได้ถึงระดับปริญญาตรี และให้มีภารกิจอื่น ๆ คือ วิจัย ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมวิทยฐานะครูและอบรมครูประจำการ จึงได้มีโครงการอบรมครูประจำการ (อ.คป.) ขึ้น โดยได้เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนถึง พ.ศ. 2530

ในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) ให้อำนาจวิทยาลัยครูเปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ ถึงระดับปริญญาตรี วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา จึงเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาการศึกษา (ค.บ.) สาขาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) ทั้งนักศึกษาภาคปกติและนักศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ในวันเสาร์ – อาทิตย์

สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยครูว่า สถาบันราชภัฏ ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา โดยสมบูรณ์

ในปี พ.ศ. 2536 คณะผู้บริหารสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา ภายใต้การบริหารงานของอธิการบดี รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน ได้ดำเนินการขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์บริเวณหนองกระเดือย หมู่ 4 ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ส่วนขยายของสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา โดยดำเนินการประสานงานกับบุคคลสำคัญของท้องถิ่น ผู้เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ สภาตำบลหัวไทร ทางการอำเภอบางคล้า ทางการจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จนได้รับการอนุมัติให้ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา ศูนย์บางคล้า ตามหนังสือที่ มท 0618 / 11964 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

[1]

ในปี พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานนามสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทราว่า สถาบันราชภัฏราชนครินทร์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายตามความในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 72 ก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฏราชนครินทร์

วันที่ 14 มิถุนายน 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พุทธศักราช 2547 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 23 ก. สถาบันราชภัฏราชนครินทร์ จึงได้เปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 เป็นต้นมา

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร