ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติก่อกำเนิดมาจาก วิทยาลัยหัวเฉียว ซึ่งมีรากฐานเติมโตมาจากโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ก่อตั้งโดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ก่อเกิดขึ้นจากพลังศรัทธาในคุณธรรมแห่งไต้ฮงภิกขุ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ โดยมีภารกิจในการบำเพ็ญทาน การสร้างสถานพยาบาลและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อมวลชน รวมถึงการทำงานด้านการศึกษา โดยเปิดสอนหลักสูตรพยาบาลในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ในวาระที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีวาระครบรอบ 80 ปี จึงได้ระดมทุนจากชาวไทยเชื่อสายจีนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เมื่อได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัย จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2537 และถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยให้ เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยให้กับของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งใดเลย จึงเป็นผลนำมาซึ่งความปลาบปลื้มและนับเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงแก่ชาวมหาวิทยาลัย และชาวจีนโพ้นทะเลในไทยที่ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสถาบันการศึกษานี้

ตั้งแต่นั้นมา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้ทำหน้าที่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา ในการผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ โดยยึดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงดำรัสไว้ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยว่า "ขอให้ทำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ดี" เป็นกระแสพระราชดำรัสที่ยังความปลาบปลื้มแก่คณะผู้ก่อตั้ง คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นล้นพ้น และก่อให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้บรรลุผลสำเร็จตามปณิธานที่ตั้งไว้ นั่นคือ "การกระจายโอกาส และสร้างความเสมอภาคในระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามตามพื้นฐานพระพุทธศาสนา และบูชาคุณธรรมบรรพชน เพื่อสร้างบัณฑิตที่รู้รอบ รู้ลึก และมีความชำนาญงาน โดยเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อสร้างบัณฑิตผู้รู้จริง ปฏิบัติงานได้จริง ควบคู่กับการมีคุณธรรม พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชา และอุทิศตนเพื่อรับใช้สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ นั่นคือ "มุ่งหวังให้เป็นมหาวิทยาลัยปวงชนที่มีมาตรฐานสากล ทันสมัย มีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน และพึ่งตนเองได้"

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร