ตำนานพื้นบ้าน ของ มหาอัคคีภัยชิโระกิยะ

มีรายงานข่าวว่า ในอัคคีภัยคราวนั้น บรรดาพนักงานหญิงที่สวมกิโมโนไม่ยอมกระโดดจากหลังคาลงสู่ฟูกเบื้องล่าง เพราะกระดากอายเกลือกผู้คนจะเห็นว่าไม่นุ่งชั้นใน และยอมตายอยู่ในกองเพลิงแทน[2][3] ข่าวนี้ชาวยุโรปสนใจเป็นอันมาก ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นเองโจษจันกันจนกลายเป็นตำนานพื้นบ้าน (urban legend) ว่า ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าต้องสั่งให้พนักงานหญิงนุ่งชั้นในหรือกางเกงขาสั้นเมื่อสวมกิโมโน ต่อมา จึงกลายเป็นรสนิยมอย่างใหม่ไป[2][3]

อย่างไรก็ดี โชอิชิ อิโนะอุเอะ (Shōichi Inoue) อาจารย์สาขาจารีตประเพณีและสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยนานาชาติว่าด้วยการศึกษาญี่ปุ่น ว่า เรื่องหญิงญี่ปุ่นยอมตายไม่ยอมขายหน้าข้างต้นนั้นหาความจริงมิได้ เขาว่า นักผจญเพลิงช่วยผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่ออกมาได้ทั้งนั้น และเรื่องหญิงดังกล่าวเป็นแต่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวตะวันตก จนแพร่หลายอยู่ในหนังสืออ้างอิงจำนวนมาก แม้แต่ในเอกสารของทบวงป้องกันอัคคีภัยเอง นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า แม้เชื่อถือกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ห้างชิโระกิยะเป็นจุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภคผ้าผ่อน โดยเฉพาะความนิยมหันไปนุ่งชั้นในอย่างตะวันตก แต่ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานรับรองความเชื่อถือนั้นแต่ประการใด[4]