ประวัติ ของ มะพร้าวแฝด

กษัตริย์ในมาลดีฟออกกฎว่า ผู้ใดพบเห็นมะพร้าวทะเล แล้วไม่นำไปถวายพระองค์จะถูกลงอาญาถึงขั้นประหารชีวิต มะพร้าวทะเลจะพบมากที่สุดในทะเลตามหมู่เกาะมัลดีฟ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกชื่อมะพร้าวทะเลนี้ว่า มะพร้าวมัลดีฟ เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบในทะเลแถวอารเบีย ศรีลังกา และอินเดียใต้ เกาะสุมาตรา และชายฝั่งแหลมมลายูอีกด้วย แต่เนื่องจากเจอแถวหมู่เกาะมัลดีฟมากกว่าที่อื่น จึงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละตินอีกว่า Lodoicea maldivica

ในอดีตราชินีแห่งโปรตุเกสเคยสั่งให้นำมะพร้าวทะเลไปถวายพระองค์บ่อยครั้ง แม้แต่กษัตริย์รูดอล์ฟก็ยังทรงเคยจ่ายทองจำนวน 4000 ฟลอรีน (ฟลอรีนละ 3.88 กรัมรวมเป็นทองหนัก 15,522 กรัม หรือประมาณ 9.4 ล้านบาท) เพื่อซื้อมะพร้าวทะเลเพียงใบเดียวจากครอบครัวของกัปตันวอลเฟิร์ท เฮอร์มันส์เซน (Wolfert Hermanszen) ชาวดัทช์ ซึ่งกัปตันคนนี้ได้รับราชทานลูกมะพร้าวทะเลนั้นจาก สุลต่านฮาโญโกรวาตี (Sultan Hanyokrowati ทรงมีพระนามเดิมว่า มัสโจลัง Mas Jolang) กษัตริย์แห่งบันตัม บนเกาะชวาตะวันตก (ครองราชย์ระหว่างปี 1601-1613 มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์) เนื่องจากกัปตันวอลเฟิร์ทได้ช่วยต่อสู้ เพื่อขับไล่ทัพเรือโปรตุเกสออกจากบันตัมปีค.ศ. 1602 แต่กลับต้องตกภายใต้ฮอลแลนด์ในเวลาต่อมา

ชาวมลายูในอดีตเชื่อว่า มะพร้าวทะเลมีต้นเพียงต้นเดียวอยู่ใต้ทะเล ซึ่งอยู่ในเขตทะเลใต้ ที่สะดือทะเลมีน้ำวน มียอดขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งพญาครุฑใช้ทำรัง ต้นไม้นี้ว่านามว่าปาโอะห์ ญังกี (Pauh Janggi) แปลว่า มะม่วงญังกี ซึ่งกลายเป็นนิยายที่ใช้เล่นหนังมลายู

มีบางครั้งบางคราวที่คนเถื่อนเก็บลูกมะพร้าวทะเลได้จากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสุมาตรา แล้วเอามาขายในเมืองปาดัง (Padang) และ ปรีอามัง (Priamang) บรรดาเจ้าชายมลายูยอมจ่ายในราคามหาศาลเพื่อให้ได้ครอบครองผลไม้วิเศษนี้ ในอินเดียเรียกมะพร้าวทะเลว่า ดัรยาย นาริยาล (แปลว่า มะพร้าวแห่งทะเล) ต่อมาเพี้ยนเป็น ญาฮารี ในสำเนียงบอมเบย์ ซึ่งแปลว่า "มีพิษ" พวกฟากีรจึงท้าทายพิษของมันด้วยการเอากะลามาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร ชาวฮินดูในอินเดียเอามะพร้าวตั้งแท่นแล้วกราบไหว้บูชาเสมือนเป็นโยนีของเจ้าแม่ (Philip Rawson, Tantra: Indian Cult of Ecstasy, p. 23) ในภาษามัลดีฟเรียกมะพร้าวทะเลนี้ว่า ตาวา กัรฮี (Tava Karhi) ซึ่งคำว่า กัรฮี แปลว่า มะพร้าว มะพร้าวทะเลนี้มีรูปร่างเหมือนมะพร้าวแฝด สองลูกติดกัน อังกฤษเรียกมะพร้าวทะเลอย่างง่าย ๆ ว่า ดับเบิลโคโคนัท (Double coconut) แปลว่า มะพร้าวคู่ ชาวมัลดีฟใช้มะพร้าวทะเลนี้ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และเชื่อว่าเป็นยาทิพย์รักษาสารพัดโรค สามารถแก้พิษ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นไวอากร้าของสมัยนั้น

มะพร้าวทะเลที่พบในอารเบียคงถูกนำเข้าไปถวายสุลต่านแห่งออตโตมาน เพื่อทำเครื่องประดับและทำลูกประคำ มีชื่อในภาษาตุรกีว่า กูกา ซึ่งชาวไทยเชื้อสายมลายูยืมคำนี้มาใช้ เรียกว่า โขะขะ

ผลมะพร้าวแฝดที่โตเต็มที่ (ปอกเปลือกแล้ว)

ในอัมสเตอร์ดัม ปี ค.ศ. 1634 Augerius Clutius ได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับผลไม้ประหลาดนี้

แต่แล้ววันหนึ่งความลับของมะพร้าวทะเลก็ถูกเปิดเผย เมื่อชาวอังกฤษได้เดินทางกับเรือ Ascension และเรือ Good Hope เพื่อไปอินเดียตะวันออก ได้มาถึงเกาะ ซีเชลเลส ในปี ค.ศ. 1609 แต่ในครั้งนั้น อังกฤษไม่ได้จับจองหมู่เกาะในซีเชลเลสเป็นของพวกตน

ในปี ค.ศ. 1742 ชาวฝรั่งเศสชื่อ Lazare Picault ได้มาถึงเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะซีเชเลส แล้วตั้งชื่อเกาะนั้นว่า Mahe ซึ่งเป็นชื่อของ Mahe de Labourdonnais ผู้ว่าการเมารีทิอุสในเวลานั้น ที่ได้ส่งเขามาที่เกาะนี้ 14 ปีต่อมา Mahe และเกาะอื่น ๆ ก็ถูกจับจองให้เป็นของกษัตริย์ฝรั่งเศส แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า Isle Sechelles ซึ่งภายหลังกลายเป็นชื่อหมู่เกาะแห่งนี้

ในปี ค.ศ. 1768 ชาวฝรั่งเศสได้เข้าจับจองเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ปรัสลีน Praslin อันเป็นชื่อของรัฐมนตรีเดินเรือ นั่นคือดุ๊กแห่งปรัสลิน (Duke of Praslin) ส่วน Curieuse อันเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปรัสลีน เป็นชื่อเรือซึ่งพวกเขาใช้โดยสารมาถึงเกาะในครั้งนั้น เมื่อนั้นปริศนาของมะพร้าวทะเลก็ถูกคลี่คลาย นั่นก็เพราะว่า พวกเขาพบต้นมะพร้าวทะเลบนเกาะทั้งสอง และเริ่มเข้าใจว่า ลูกมะพร้าวแฝดที่ตกลงไปในทะเลนั้นเองที่ลอยข้ามมหาสมุทรอินเดียจนถึงมัลดีฟ ศรีลังกา และอินเดีย กัปตันชาวตะวันตกคนหนึ่งบรรทุกมะพร้าวทะเลเต็มลำเรือเพื่อเอาไปขาย ตั้งแต่นั้นมาปริศนามะพร้าวทะเลก็คลี่คลาย ราคาของมะพร้าววิเศษก็ตกไปด้วย

ในปี ค.ศ. 1772 ชาวฝรั่งเศสได้นำทาสเข้ามาทำการเพาะปลูกเครื่องเทศบนเกาะ และเริ่มกลายเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่นั้นมา