การปฏิวัติฝรั่งเศส ของ มารี_อ็องตัวแน็ต

เหตุการณ์ในปี 1789

ในปีค.ศ. 1789 สถานการณ์ขององค์ราชินีเลวร้ายลงมาก มีเสียงเล่าลือว่า คุณผู้ชาย (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ในอนาคต) จะยื่นเรื่องต่อสภาบุคคลชั้นสูงในปี พ.ศ. 2330 (ค.ศ. 1787) เพื่อขอพิสูจน์สายเลือดของโอรสธิดาของกษัตริย์ ข่าวลือยังอ้างด้วยว่าองค์ราชินีได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองวัล-เดอ-กราซ ชานกรุงปารีส บาทหลวงซูลาวี ได้เล่าไว้ใน บันทึกประวัติศาสตร์และการเมืองในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่า "พระนางได้นำเอาความโชคร้ายของสาธารณชนไปกับพระนางด้วย ราชสำนักมีชีวิตชีวาขึ้นและคืนสภาพแทบจะในทันที จากการที่พระนางเสด็จแปรพระราชฐานเพียงอย่างเดียว"

4 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 ได้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ขึ้น ระหว่างพิธีมิสซาเพื่อการเปิดสภาอย่างเป็นทางการ สาธุคุณเดอ ลา ฟาร์ ผู้อยู่บนบัลลังก์ ได้กล่าวประณามมารี อ็องตัวแน็ตอย่างเปิดเผย ด้วยการตีแผ่การใช้ชีวิตในราชสำนักอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และยังกล่าวว่าผู้ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตหรูหราดังกล่าวได้หลบไปหาความสำราญด้วยการ ใช้ชีวิตเลียนแบบธรรมชาติอย่างไร้เดียงสา อันเป็นคำประชดประชันแดกดันด้วยการเปรียบเปรยถึงชีวิตใน พระตำหนักเปอติ ทรีอานง บ้านไร่ในพระราชวังแวร์ซายที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (ตามที่เขียนไว้ใน บันทึกเกี่ยวกับคณะสมาชิกสภา ของ อาเดรียง ดูเกสนัว)

4 มิถุนายน มกุฎราชกุมารพระองค์น้อยได้สิ้นพระชนม์ลง ได้มีการจัดพิธีพระศพขึ้นที่ ชาเปลแซ็ง-เดอนี เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย กิจกรรมทางการเมืองไม่อนุญาตให้เชื้อพระวงศ์ไว้ทุกข์ได้อย่างสะดวกนัก มารี อ็องตัวแน็ต ผู้ซึ่งปั่นป่วนพระทัยจากเหตุการณ์นี้ และเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษากษัตริย์ จึงปักใจเชื่อในแนวคิดต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้สั่งปลดนายชาก เนกแกร์ องค์ราชินีได้เผาเอกสารต่าง ๆ และรวบรวมเพชรนิลจินดาของพระนาง และกราบทูลโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายไปหลบในปราสาทที่เป็นป้อมปราการแข็งแกร่งกว่านี้ ห่างไกลจากกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 หน้งสือต่อต้านระบอบกษัตริย์ถูกแจกจ่ายไปทั่วกรุงปารีส ผู้ใกล้ชิดพระนางถูกหมายหัว และพระเศียรของ มารี อ็องตัวแน็ต ถูกตั้งราคาไว้ มีคนกล่าวหาพระนางว่าต้องการลอบวางระเบิดรัฐสภาและต้องการส่งทหารเข้ามาในกรุงปารีส

1 ตุลาคม เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหม่ขึ้น ขณะที่มีงานเลี้ยงพระกระยาหารโต๊ะยาวโดยเหล่าราชองครักษ์จากพระตำหนักทหารขององค์กษัตริย์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กองทหารเรือจากฟลองเดรอที่เพิ่งกลับมาถึงกรุงปารีส ได้มีการโห่ร้องถวายพระพรแก่องค์ราชินี อีกทั้งประดับประดาสถานที่ด้วยธงชัยสีขาวและธงไตรรงค์ ประชาชนในกรุงปารีสได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานพระราชพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถวายช่อดอกไม้ ในขณะที่ประชาชนขาดแคลนขนมปัง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ขบวนประท้วงของเหล่าสตรีได้เดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปัง โดยกล่าวว่าพวกเขากำลังเดินทางไปหา คนทำขนมปังชาย (พระมหากษัตริย์) และคนทำขนมปังหญิง (องค์ราชินี) รวมทั้ง บุตรชายของคนทำขนมปัง (มกุฎราชกุมาร) ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนผู้ลุกฮือติดอาวุธด้วยหอกและมีด ได้บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อเป็นการข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารของมาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต และเหล่าผู้ลุกฮือตามประกบ ระหว่างทางได้มีผู้ข่มขู่องค์ราชินีโดยการให้ทอดพระเนตรเชือกเส้นหนึ่ง พร้อมกับกราบทูลว่าจะใช้เสาโคมในกรุงปารีสแขวนคอพระนางด้วยเชือกเส้นนี้

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐสมัชชาแห่งชาติได้ประกาศให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ร่วมกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ขอความช่วยเหลือจากราชวงศ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย, พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน และจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นเชษฐาของพระนาง แต่กษัตริย์สเปนได้ตอบกลับอย่างคลุมเครือ และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1790 จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เสด็จสวรรคต นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต ได้แนะนำอย่างเย็นชาให้ พระนางหย่ากับองค์กษัตริย์ ยังมีบางกระแสได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกับพระนางเรื่องมีชายชู้ และจับได้ว่าพระนางลอบเป็นชู้กับเคานต์อัคเซิล ฟอน แฟร์เซิล

ราวปลายปี ค.ศ. 1790 บารงเดอเบรอเตย ได้เสนอแผนการหลบหนี ด้วยการหนีออกจาพระราชวังตุยเลอรี และเข้ายึดป้อมปราการที่เมืองมงต์เมดี ให้กับชายแดน องค์ราชินีต้องอยู่ตามลำพังพระองค์เองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1790 แมร์ซี-อาร์จองโต ได้ออกจากฝรั่งเศส เพื่อไปรับตำแหน่งในสถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 กษัตริย์องค์ใหม่แห่งออสเตรีย พระเชษฐาอีกพระองค์ของมารี อ็องตัวแน็ต ปฏิเสธที่จะช่วยพระนาง ในวันที่ 7 มีนาคม ได้มีผู้จับได้ว่า แมร์ซี-อาร์จองโต ส่งจดหมายถึงพระนาง และได้นำเรื่องให้คณะปฏิวัติดำเนินการ จึงเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นว่า นั่นเป็นหลักฐานว่าพระนางได้มีส่วนพัวพันกับ "คณะกรรมาธิการออสเตรีย" และได้เจรจาจะขายชาติให้กับประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กลุ่มก่อการปฏิวัติได้บุกกรุงปารีส ทันใดนั้นเอง ชาวกรุงปารีสก็พบว่าองค์กษัตริย์กับราชินีได้หลบหนีไปแล้ว แต่นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต ได้โน้มน้าวให้กลุ่มก่อการปฏิวัติเชื่อว่ากษัตริย์ถูกกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติลักพาตัวไป พระราชวงศ์ที่หลบไปนอกกรุงปารีสไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวอีกต่อไป แต่โชคร้ายที่ราชรถของพวกพระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต มาถึงช้าไปกว่าสามชั่วโมง และเมื่อพวกเขามาถึงจุดนัดพบจุดแรก ที่จุดแวะพักปงต์-เดอ-ซอม-เวสเลอ กองทหารที่จะมาช่วยได้จากไปเสียแล้ว โดยคิดว่าพระมหากษัตริย์เปลี่ยนพระทัย ก่อนจะถึงเที่ยงวันเล็กน้อย ราชรถถูกจับได้ที่เมืองวาเรนน์-ออง-อาร์กอนน์ เนื่องจากเจ้าของจุดแวะพักจุดก่อนจำพระเจ้าหลุยส์ได้ เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าจะทำอย่างไรดี และในขณะนั้นเอง ได้มีฝูงชนหลั่งไหลมาที่เมืองวาเรนน์ ท้ายที่สุด ราชวงศ์ที่กำลังถูกคุกคาม ได้ถูกนำตัวกลับไปยังกรุงปารีส ภายใต้บรรยากาศโหดร้ายอันเรียบเชียบเงียบงัน

ภายหลังเหตุการณ์ที่เมืองวาแรน

ดูเพิ่มเติมที่: การเสด็จสู่วาแรน

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกไต่สวนโดยคณะผู้แทนของสมัชชาแห่งชาติ พระองค์ได้ตอบคำถามอย่างคลุมเครือ คำตอบที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนพระองค์จากตำแหน่งกษัตริย์ ทางด้านพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ได้พบกับอองตวน บาร์นาฟ อย่างลับ ๆ โดยต้องการโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และในวันที่ 30 กันยายน ได้มีการยุบสภาที่ปรึกษากษัตริย์ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาแทนที่ แต่อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสงครามกับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้แพร่สะพัดไปทั่ว ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ของยุโรปทั้งหมด ออสเตรียทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกดดันที่สุด ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมารี อ็องตัวแน็ตและเรียกพระนางว่าเป็น "นางปิศาจ" หรือไม่ก็ "มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย" และยังกล่าวโทษว่าพระนางเป็นผู้ทำให้เมืองหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1792 คำแถลงการณ์ของเบราน์ชไวค์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ แฟร์ซอง ได้จุดเพลิงแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสได้สำเร็จในที่สุด

ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยการบุกพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำต้องลี้ภัยในสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติ ที่ต่อมาได้ลงคะแนนให้ถอดถอนพระองค์ชั่วคราว และให้พระองค์เสด็จไปประทับที่คอนแวนต์ของนิกายเฟยยองต์ วันรุ่งขึ้น เชื้อพระวงศ์ก็ถูกนำตัวมาไว้ที่ห้องขังของโบสถ์ ระหว่างการสังหารหมู่เชื้อพระวงศ์ในเดือนกันยายน เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และพระเศียรของเจ้าหญิงถูกเสียบไว้ที่ปลายหอกและตั้งไว้นอกหน้าต่างห้องที่ประทับของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ไม่นานต่อมา หลังจากที่สงครามได้เริ่มขึ้น สภาคณะปฏิวัติได้ประกาศให้เชื้อพระวงศ์ตกอยู่ในฐานะตัวประกัน ราวต้นเดือนธันวาคม ได้มีการค้นพบ "ตู้เหล็ก" ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้ซ่อนเอกสารลับของพระองค์ จึงจำเป็นต้องจัดการไต่สวนคดีขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม สภากงว็องซียงแห่งชาติได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์ วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น

การพิจารณาคดี

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต, พระโอรส-ธิดา และมาดามเอลิซาเบท ณ เหตุการณ์ที่ฝูงชนบุกพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1792การสำเร็จโทษพระนางมารี อ็องตัวแน็ต วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793

3 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มารีถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาปฏิวัติ โจทย์ผู้ฟ้องร้องคือประชาชนชาวฝรั่งเศสผ่านทางอัยการอ็องตวน ฟูกีเย-แต็งวีล แม้ว่าการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง แต่การพิจารณาคดีของอดีตราชินีมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้มีการทำสำนวนฟ้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอัยการฟูกีเย-แต็งวีลไม่สามารถหาเอกสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พบทุกชิ้น และเพื่อให้สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่มารีได้ เขามีแผนที่จะให้อดีตมกุฎราชกุมารขึ้นให้การต่อศาลในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมารดา

ต่อหน้าศาลนั้นเอง อดีตมกุฎราชกุมารองค์น้อยได้กล่าวหาพระมารดา และพระมาตุจฉาว่าเป็นผู้สอนให้พระองค์สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและบังคับให้เล่นเกมสวาท พระนางมารีผู้เสื่อมเสียพระเกียรติได้เรียกราชเลขามาขึ้นให้การ พระนางพ้นจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด แต่พระนางยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกว่าสมรู้ร่วมคิดกับมหาอำนาจต่างชาติ และเมื่อพระนางยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ นายแอร์ม็อง ประธานศาลอาญาปฏิวัติได้กล่าวว่าพระนางเป็น "ตัวการสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทรยศต่อหลุยส์ โอกุสต์" คดีนี้จึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของทรราชไป บทนำของสำนวนฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่า:

"จากการพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ยื่นโดยพนักงานอัยการ เป็นที่ชัดเจนว่า ในบรรดาราชินีทั้งหลาย เป็นต้นว่า เมสซาลีน, บรูเนอโอ, เฟรเดก็องด์ และเมดีซี ที่เมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีชื่อเสื่อมเสียไม่อาจลบล้างได้จากประวัติศาสตร์ นับได้ว่ามารี อ็องตัวแน็ต หญิงหม้ายของหลุยส์ กาเป เป็นผู้มีความละโมบเป็นที่สุด และเป็นหายนะอันใหญ่หลวงของชาวฝรั่งเศส"[1]

พวกพยานที่จัดหามาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าที่ควร พระนางให้การตอบว่า "เราเป็นแค่แค่ภรรยาของหลุยส์เท่านั้น" และพระนางก็ทำอะไรตามพระทัยของพระนางเอง อัยการฟูกีเย-แต็งวีลเรียกร้องให้ประหารพระนางและกล่าวหาว่าพระนางเป็น "ศัตรูอย่างเปิดเผยของชาติฝรั่งเศส" ทางด้านนายทรองซง-ดือคูเดรย์ และนายโชโว-ลาการ์ด ทนายความสองคนของพระนางยังหนุ่มและขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังไม่ได้เห็นเอกสารฟ้องก่อนขึ้นว่าความ ทำได้แค่เพียงอ่านออกเสียงบันทึกไม่กี่หน้าที่ตนได้จดเอาไว้

คณะลูกขุนต้องตอบถามคำถามสี่ข้อด้วยกัน:

  1. จริงหรือไม่ที่ได้มีการคบคิดและมีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และศัตรูอื่น ๆ นอกสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่การคบคิดและข่าวกรองดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้พวกนั้นเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศส และให้พวกนั้นพัฒนาอาวุธได้?
  2. มารี อ็องตัวแน็ต แห่งออสเตรีย (...) เราเชื่อว่านางได้มีส่วนร่วมมือกับการคบคิดและสนับสนุนการข่าวกรองดังกล่าวหรือไม่?
  3. จริงหรือที่มีแผนการสมรู้ร่วมคิดและแผนข่าวโคมลอยที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศส?
  4. เราเชื่อว่ามารี อ็องตัวแน็ตได้มีส่วนร่วมในแผนสมรู้ร่วมคิดและข่าวโคมลอยนี้หรือไม่?

คณะลูกขุนได้ตอบว่าคำถามดังกล่าวว่าจริงและใช่ทุกข้อ มารี อ็องตัวแน็ต จึงถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชย์ขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ประมาณเวลาสี่นาฬิกาของรุ่งเช้า ในวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อเวลา 12:15 น.[2][3] พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินหลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ คำพูดสุดท้ายของพระนางคือ "อภัยให้เราด้วย เมอซีเยอ เราไม่ได้ตั้งใจ" ("Pardonnez-moi, monsieur. Je ne l’ai pas fait exprès") เนื่องจากพระนางเผลอไปเหยียบเท้าของเจ้าพนักงานเพชฌฆาต[4] พระศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอ็องฌู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1815 พระศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี เมื่อวันที่ 21 มกราคม