ประวัติ ของ มาร์วิน_มินสกี

มาร์วิน มินสกี เกิดที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของจักษุศัลยแพทย์และหญิงชาวยิว เข้ารับศึกษาโรงเรียน Ethical Culture Fieldston School และโรงเรียน Bronx High School of Science ก่อนจะไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยฟิลลิปส์ ก่อนจะเข้าเป็นทหารเรือให้กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ. 1944 ถึง ค.ศ. 1945 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1950 และปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันในปี ค.ศ. 1954[3] หลังจบการศึกษา ได้เข้าเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ในปีต่อมา ได้ร่วมมือกับจอห์น แม็กคาร์ธีย์ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อันถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดสาขาปัญญาประดิษฐ์[4] ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์

ไอแซค อสิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย ยกว่ามินสกีเป็นหนึ่งในสองบุคคลที่เขายอมรับว่ามีความฉลาดมากกว่าเขา อีกคนหนึ่งคือ คาร์ล เซแกน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน[5]

มินสกี เป็นผู้ประดิษฐ์หน้าจอดิสเพลย์แสดงกราฟิกแบบสวมหัวเครื่องแรกของโลกในปี ค.ศ 1963 และกล้องคอนโฟคอลในปี ค.ศ. 1957 อันเป็นที่มาของกล้องกล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอลชนิดที่ใช้เลเซอร์ในการสแกนที่ใช้กันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์เต่า และเครื่อง SNARC เครื่องจักรที่เรียนรู้จากโครงข่ายประสาทเทียมแบบต่อสุ่มเครื่องแรกในปี ค.ศ. 1951

มินสกีเขียนหนังสือเรื่อง Perceptrons ร่วมกับเซย์มัวร์ เพเพิร์ต ที่เป็นผลงานวิชาการสำคัญสำหรับการวิเคราะห์โครงข่ายประสาทเทียม หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวถึงมากในประวัติศาสตร์ของสาขาปัญญาประดิษฐ์ บ้างก็ว่าเป็นหนังสือสำคัญที่ทำให้นักวิจัยเริ่มตีตัวออกห่างจากโครงข่ายประสาทเทียมในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 จนนำมาสู่ช่วงยุคตกต่ำของปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำเสนอแบบจำลองทางปัญญาประดิษฐ์อีกมากมาย เช่น ในหนังสือเรื่อง "A framework for representing knowledge" ก็เป็นผู้สร้างมุมมองใหม่ในการเขียนโปรแกรม มินสกียังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์ต่างดาวที่สามารถพูดและคิดได้เหมือนมนุษย์อีกด้วย[6]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มินสกีและเซย์มัวร์ เพเพิร์ตร่วมกันพัฒนาทฤษฎีที่เรียกว่า Society of Mind เป็นทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายว่าสิ่งที่เราเรียกกันว่าความฉลาดนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นผลผลิตจากอันตรกิริยาระหว่างส่วนที่ไม่ฉลาด มินสกีชี้ว่าไอเดียนี้มีจุดกำเนิดมาจากงานวิจัยของตนเองที่พยายามจะสร้างเครื่องจักรที่ใช้แขนกล กล้องวิดีโอ และคอมพิวเตอร์ จากนั้นในปี ค.ศ. 1986 มินสกีได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Society of Mind ที่อธิบายถึงทฤษฎีดังกล่าวให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 มินสกีได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มคือ The Emotion Machine เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับทฤษฎีการคิดของมนุษย์ โดยเสนอว่าเราควรจะแทนที่แนวคิดที่ง่ายๆด้วยแนวคิดที่ซับซ้อน[7]