ประวัติ ของ มินะทอร์

กำเนิด

วิศวกรเดดาลัสถวายโคจำลองให้นางพาซีฟาอีใช้ร่วมประเวณีกับโคเผือก

เมื่อเสวยราชย์ในเกาะครีตแล้ว พระเจ้าไมนอสต้องทรงแย่งชิงอำนาจการปกครองกับพระเชษฐาและพระอนุชาเนือง ๆ จึงทรงวอนขอให้โพไซดอน (Poseidon) ประทานโคเผือกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเทพยดาสนับสนุนพระองค์ แล้วพระเจ้าไมนอสจะได้ทรงสังหารโคนั้นเซ่นสรวงโพไซดอนต่อไป แต่เมื่อได้ทรงรับโคนั้นมาแล้ว ทรงเห็นแก่ความงดงามผ่าเผยของโค จึงหักพระทัยฆ่าโคไม่ลง และเก็บรักษาโคนั้นไว้ แล้วประหารโคเผือกตัวอื่นสังเวยแทน โพไซดอนเมื่อทราบก็โกรธ สั่งแอโฟรไดที (Aphrodite) กามเทวี บันดาลให้พาซีฟาอี (Pasiphaë) ชายาพระเจ้าไมนอส หลงรักโคเผือกดังกล่าวอย่างรุนแรง

นางพาซีฟาอีมีเสาวนีย์ให้เดดาลัสแกะสลักโคไม้ขึ้นตัวหนึ่ง ภายในเป็นช่องโปร่ง ภายนอกเอาหนังโคคลุมไว้ ตกแต่งดังโคจริง แล้วนางไต่เข้าไปในช่องเพื่อสวมโคไม้นั้น แล้วให้โคเผือกมาสมจรด้วยเรื่อยมาจนตั้งครรภ์ และให้กำเนิดอสุรกายมินะทอร์ นางเลี้ยงดูบุตรเป็นอย่างดี แต่ครั้นมินะทอร์เติบใหญ่ ก็เริ่มสำแดงวิสัยเดรัจฉาน จับข้าราชบริพารกินเป็นเครื่องยังชีพ ขณะที่พระเจ้าไมนอสทรงปริวิตกอยู่นั้น ปุโรหิตเมืองเดลไฟ (Delphi) ทูลแนะนำว่า ให้ขังโคมินะทอร์ไว้ในวงกต จึงมีพระบัญชาให้เดดาลัสสร้างขึ้นไว้ริมพระตำหนักในตำบลนอสซอส (Knossos)

งานเขียนทั่วไปในทางวรรณกรรมและกามวิสัยมุ่งพรรณนาการร่วมประเพณีระหว่างนางพาซีฟาอีและโคเผือกโดยอาศัยโคไม้ มีกวีนิพนธ์เรื่อง เอพิสตูลีเฮโรอิดัม (Epistulae Heroidum) ของโอวิด เพียงเรื่องเดียวที่ระบุไว้เป็นอื่น โดยพรรณนาเหตุการณ์นี้ไว้อย่างสั้น ๆ ในตอนที่ธิดาองค์หนึ่งของนางพาซีฟาอีพร่ำบ่นถึงมารดาที่หลงรักโคเผือกอยู่ฝ่ายเดียวว่า "โคนั้นจำแลงเป็นเทวา พาซีฟาอีมารดาข้าตกอยู่ในบ่วงกามแห่งโคนั้น จึงนำมามาซึ่งเสียงก่นด่าและความหนักใจ"[6][7]

รูปลักษณ์

มินะทอร์แบบหัวและกายอย่างคนอยู่บนตัวโค ขณะถูกธีเซียสประหาร

ศิลปะสมัยคลาสสิกมักแสดงรูปมินะทอร์เป็นมนุษย์เพศผู้มีศีรษะเป็นโคและมีหางโค ตามที่ซอฟาคลีส (Sophocles) นักละครชาวกรีก ประพันธ์ไว้ในงานเรื่อง ทราคีนีอี (Trachiniae) ว่า ผีเสื้อน้ำแอคีโลอัส (Achelous) เคยกล่าวไว้ในคราวเกี้ยวนางดีอาไนรา (Deianira) ว่า มินะทอร์หัวเป็นโคกายเป็นคน

ตั้งแต่สมัยคลาสสิกจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การพรรณนาเกี่ยวกับวงกตมักเอามินะทอร์เป็นที่ตั้ง[8] งานเขียนของโอวิดเกี่ยวกับมินะทอร์ แม้มิได้ให้รายละเอียดมากมายว่า กายมินะทอร์ส่วนใดเป็นคนส่วนใดเป็นโค แต่ก็แพร่หลายที่สุดในช่วงมัชฌิมยุค ส่วนงานเขียนในสมัยถัด ๆ มากลับนิยมกันใหม่ว่า มินะทอร์มีหัวและกายดั่งคนอยู่บนตัวโค ทำนองเดียวกับเซนทอร์ (centaur)[9] ความนิยมอย่างหลังนี้ปรากฏมาจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และปัจจุบันยังพบอยู่บ้าง เช่น ในผลงานที่สตีล แซวิจ (Steele Savage) วาดประกอบหนังสือเรื่อง มิโธโลจี (Mythology) ของอีดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) เมื่อ ค.ศ. 1942

ตาย

ธีเซียสผู้ล้มมินะทอร์ (Theseus victor of the Minotaur) ภาพสีน้ำมันของชาลส์-เอดูอาร์ เชส (Charles-Édouard Chaise) ราว ค.ศ. 1791

หลังจากมินะทอร์ถูกขังไว้ในวงกตแล้ว พระเจ้าไมนอสทรงเกิดหมางพระทัยกับกรุงเอเธนส์ เนื่องจากแอนโดรเจียส (Androgeus) พระโอรส ถูกชาวเอเธนส์ฆ่าตายกลางงานแข่งขันกีฬาแพแนเธเนีย (Panathenaic Games) เพราะชาวเอเธนส์ไม่ชอบใจที่แอนโดรเจียสชนะ อีกเรื่องว่า พระเจ้าอีเจียส (Aegeus) แห่งกรุงเอเธนส์ทรงบัญชาให้โคเผือกตัวข้างต้นไปสังหารแอนโดรเจียสกลางนครแมราธอน (Marathon) แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใด พระเจ้าไมนอสได้เสด็จยกพยุหโยธาไปเอากรุงเอเธนส์เพื่อทรงแก้แค้นในการสูญเสียพระโอรสเป็นผลสำเร็จ และคาทัลลัส (Catullus) บรรยายไว้ในงานเขียนเรื่องกำเนิดมินะทอร์ ว่า กรุงเอเธนส์ "ถูกพิบัติภัยร้ายแรงบังคับให้ใช้ค่าปฏิกรรมในการคร่าชีวิตแอนโดรเจียส" โดยพระเจ้าอีเจียสต้องทรงชำระค่าปฏิกรรมนั้นด้วยการส่ง "ชายหนุ่มและหญิงโสดพร้อมกันไปเป็นภักษาหาร" ของมินะทอร์[10] ในการนี้ พระเจ้าไมนอสทรงกำหนดให้จับสลากเลือกชายเจ็ดคนหญิงเจ็ดคนส่งมาทุก ๆ เจ็ดปีหรือเก้าปี (บางแห่งว่าทุกปี)[11] เพื่อมาให้มินะทอร์บริโภคถึงในวงกต

ในคราวที่จะต้องส่งคนไปเป็นครั้งที่สามนั้น ธีเซียส พระโอรสพระเจ้าอีเจียส อาสาไปฆ่ามินะทอร์ถวาย โดยให้คำมั่นว่า ถ้ากิจสำเร็จจะล่องเรือกลับมาโดยชักใบสีขาว หาไม่แล้วจะใช้ใบเรือสีดำอย่างเดิม ครั้นไปถึงเกาะครีต แอรีแอดนี (Ariadne) กับฟีดรา (Phaedra) ธิดาพระเจ้าไมนอส เกิดปฏิพัทธ์ธีเซียสด้วยกันทั้งคู่ นางแอรีแอดนีซึ่งเป็นคนพี่จึงเสด็จมาแนะวิธีรอดพ้นจากกลไกลวงกตให้แก่ธีเซียส โดยในบางเรื่องว่า นางมอบด้ายให้เขาผูกบานประตูไว้เมื่อเข้าไปในวงกต แล้วสาวด้ายทิ้งไว้ตามทางที่เดินไป เมื่อประหารมินะทอร์โดยใช้กระบี่ของพระเจ้าอีเจียสตัดศีรษะแล้ว เขาจึงหาทางกลับออกมาได้ โดยนำพาชายหญิงคนอื่น ๆ ที่เข้าไปพร้อมกันในคราวนั้นออกมาด้วย เมื่อกลับกรุงเอเธนส์ ธีเซียสทิ้งนางแอรีแอดนีไว้บนเกาะแน็กซอส (Naxos) แล้วเอานางฟีดราเป็นภริยาเพียงหนึ่งเดียว แต่ลืมเปลี่ยนใบเรือจากสีดำเป็นสีขาว ขณะนั้น พระเจ้าอีเจียสประทับอยู่บนแหลมซูเนียน (Sounion) ทอดพระเนตรเห็นใบเรือดำ เข้าพระทัยว่า พระโอรสถูกฆ่าด้วยเงื้อมมืออสุรกายมินะทอร์เสียแล้ว ก็โทมนัสคร่ำครวญ กระโจนจากแหลมนั้นลงสู่ท้องน้ำเบื้องล่างปลิดพระชนม์พระองค์เอง ทะเลนั้นจึงขนานนามว่า อีเจียน[12] เป็นเหตุให้ธีเซียสได้ราชสมบัติต่อมา