การจัดการ ของ มิมิกูโมะ

บริษัท บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ จำกัด (BNK48 Office) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการวงโดยเฉพาะ[130] ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างแพลน บี มีเดีย 35%, โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ 34.8%, บริษัทในประเทศจีน 15.2% และเอเคเอส 15%[131] โดยสมาชิกวงแต่ละคนจะได้รับสัญญา 6 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาใหม่ได้[132] ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นาย จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ จำกัด เป็นบริษัท Independent Artist Management จำกัด หรือ iAM[133]

การเงิน

จิรัฐ บวรวัฒนะ กล่าวว่าบริษัทได้ลงทุนเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2560 และ 2561 โดยคาดหวังว่าจะคืนทุนได้ในปี พ.ศ. 2562[131] ซึ่งจิรัฐได้กล่าวอีกว่าจะทำการประชาสัมพันธ์วงนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นส่วนมาก และรายได้หลักจะมาจาก 3 ช่องทางเท่า ๆ กันคือ การขายสปอนเซอร์ชิพให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ว่าจ้างสมาชิกให้เป็นพรีเซ็นเตอร์, การขายสินค้าที่ระลึก เช่น รูปถ่าย เสื้อผ้า ของสะสม แผ่นซีดี ฯลฯ, และการขายบัตรคอนเสิร์ตกับบัตรเข้าชมการแสดงในโรงละคร[134] นอกจากนี้วงยังได้รับการสนับสนุนจากคูลเจแปน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินให้แก่วงน้องสาวต่างประเทศของเอเคบีโฟร์ตีเอต[135]

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วงได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ "บีเอ็นเค โปรดักชั่น" (BNK Production) โดยการร่วมทุนระหว่างเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ 50%, บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ 49.99% และจิรัฐ บวรวัฒนะ 0.01% ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 4 ล้านบาท มีจุดประสงค์หลักคือการผลิตรายการโทรทัศน์และงานคอนเสิร์ต[136] โดยในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 บริษัทบีเอ็นเค โปรดักชั่นได้ประกาศเลิกกิจการ [137]นอกจากนี้ วัฒนพงษ์ ใจวาท คอลัมนิสต์แบรนด์อินไซด์ ยังได้ให้การประเมินว่าปัจจุบันวงมีมูลค่าประมาณ 520.7 ล้านบาท[138]

ข้อวิจารณ์

หลายครั้งที่ผ่านมา บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ มักได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและจัดส่งของช้ากว่ากำหนด[139][140] นักวิจารณ์บางคนได้ตั้งข้อสงสัยและคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายของบริษัทที่จะบรรลุผลตามได้เป้า โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากการจัดการวงที่ไม่ได้คุณภาพ และขาดแผนการในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล คอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นและผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยว ได้มองว่าบริษัท "ยังไม่มีความพร้อม" เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี และไม่สามารถวางแผนกิจกรรมหรือประกาศรายละเอียดได้ก่อนเนื่องจากต้องมีการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าชม นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่ายอดขายรวมของซิงเกิลแรกอยู่ที่ 13,500 แผ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่มนั้นมีฐานกลุ่มคนดูที่เฉพาะ ณัฐพงศ์ยังกล่าวอีกว่าตัวบริษัทเองต้องแบกรับความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะต้องดูแลศิลปิน 30 คน และอาจจะไม่สามารถอยู่รอดในทางธุรกิจได้เกิน 2 ปี[141]

นอกจากนี้ เฉลิมพล สูงศักดิ์ นักร้องนำวงซีลพิลโลว์ ได้เสริมว่าหนึ่งในจุดอ่อนของวงนี้ก็คือการนำสมาชิกวงที่มีความสามารถแตกต่างกันมาคัดเลือกด้วยวิธีเดียวกันหมด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ค่ายอาจนำความสามารถด้านอื่นมาเป็นจุดขายได้เวลาออกงาน[142]