พระประวัติ ของ มีนเยนอระทา

มีนเยนอระทามีพระนามเดิมว่า คีนนอง[note 2] (อังกฤษ: Khin Hnaung) เป็นพระโอรสในเมียวหวุ่นแห่งเมาะตะมะ (หม่องตมะ[4]/หมอนตม[5]) และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าญองย่าน[3] มหาราชวงศ์[1]ระบุว่า มีนเยนอระทาทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าญองย่าน และพระธิดาในเจ้าฟ้าแห่งเมืองนาย (อังกฤษ: Monè) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวมีข้อขัดแย้งคือ พระเจ้าญองย่านสวรรคตในปี พ.ศ. 2149[1] ในขณะที่มีนเยนอระทาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2261/2262[3]

เจ้าชายแห่งปาเดน

พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งปาเดน[note 2] (อังกฤษ: Padein) ในรัชสมัยพระเจ้าปเย ต่อมาเมื่อพระเจ้านะราวะระขึ้นครองราชย์ เจ้าชายแห่งปาเดนจึงทรงได้รับพระราชทานราชทินนาม มีนเยยานนอง (อังกฤษ: Minyèyannaung) ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2215[1]

พระเจ้านะราวะระสวรรคตหลังครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปี พระเจ้ามังกะยอดินจึงขึ้นครองราชย์เป็นลำดับถัดมา ในยามเมื่อขึ้นครองราชย์นั้น มีนเยยานนองทรงเป็นผู้ถวายพระนาม สิริปวระมหาธรรมราชา[6] แด่พระเจ้ามังกะยอดินในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2216[1] ต่อมาพระเจ้ามังกะยอดินทรงแต่งตั้งให้มีนเยยานนองเป็นเมียวหวุ่นแห่งเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2225/2226

เมียวหวุ่นแห่งเชียงใหม่

Ken Kirigaya เห็นว่า มีนเยยานนองคือบุคคลเดียวกับมังแรหน่อรถาที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือพื้นเมืองเชียงใหม่ ใบลานวัดศรีภุมมา[5]ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2226/2227 (จ.ศ. 1045) พระองค์ร่วมกับเจ้าฟ้าเมืองหลวงได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตรเนื่องจากเกิดโรคระบาด[3] อย่างไรก็ตาม มีนเยยานนองได้รับพระราชทานราชทินนาม มีนเยนอระทา ในรัชสมัยพระเจ้าเสน่ห์มิน (ระหว่างปี พ.ศ. 2241 - พ.ศ. 2257)[1][3]

มีนเยนอระทาอาจเป็นบุคคลเดียวกับแมงชาระที่ถูกกล่าวถึงโดยพื้นเมืองเชียงแสน[7]และพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน[8]ว่า ในปี พ.ศ. 2229/2230 (จ.ศ. 1048) แมงชาระหลบหนีจากสงครามที่เมืองยองมาอยู่ที่เมืองเชียงแสน จากนั้นแมงชาระลงไปยึดได้เมืองเชียงใหม่ แมงชาระจึงได้ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2247/2248 (จ.ศ. 1066) แมงชาระให้จับกุมตัวเมียวหวุ่นเมืองเชียงแสนไปประหารที่เมืองเชียงใหม่ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2251 เจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุงเป็นกบฏต่อพม่า[1] พระเจ้าเสน่ห์มินจึงมีพระราชโองการให้แมงชาระยกทัพไปเข้าร่วมการปราบเมืองเชียงตุง บุตรของแมงชาระจึงยกทัพไปรบชนะเมืองเชียงตุงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2252

สิ้นพระชนม์

มีนเยนอระทาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2261/2262[3] ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ต้นฉบับใบลานวัดเชียงมั่น[4]และพงศาวดารเชียงใหม่ ต้นฉบับใบลานวัดพระสิงห์เมืองเชียงราย[5]ระบุเป็นปี พ.ศ. 2263/2264 (จ.ศ. 1082) ราชสำนักพม่าจึงแต่งตั้งงานโยเป็นเมียวหวุ่นแห่งเชียงใหม่คนถัดไป[9][10]