องค์ประกอบที่ตั้งอยู่ภายในมุขตะวันออก ของ มุขโค้งด้านสกัด

ภายในบริเวณมุขด้านตะวันออกอาจจะเป็นที่ตั้งของ:

บริเวณสงฆ์

บริเวณสงฆ์ (presbytery หรือ sanctuary) เป็นบริเวณสำหรับนักบวชที่เป็นที่ตั้งของแท่นบูชา ที่มาจากภาษากรีก “presbuteros” ที่แปลว่า “ผู้อาวุโส”

บริเวณร้องเพลงสวด

ดูบทความหลักที่: บริเวณร้องเพลงสวด

บริเวณร้องเพลงสวดเป็นบริเวณที่มักจะตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของบริเวณพิธี (chancel) ระหว่างช่องทางเดินกลาง และบริเวณศักดิ์สิทธิ์ (sanctuary) (ที่เป็นที่ตั้งแท่นบูชา)

บริเวณพิธี

ดูบทความหลักที่: บริเวณพิธี

คำว่า “chancel” มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แผลงมาจากภาษาละติน “cancelli” ที่เป็นบริเวณรอบแท่นบูชาที่ใช้โดยนักบวช

ชาเปลดาวกระจาย

ชาเปลแบบดาวกระจาย เริ่มสร้างกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13ในฝรั่งเศส โดยการสร้างเป็นชาเปลที่กระจายออกไปจากมุขด้านตะวันออก โดยเรียกรวมกันในภาษาฝรั่งเศสว่า "Chevet" (แปลว่า "เครื่องประดับหัว") เนื่องจากความซับซ้อนขององค์ประกอบที่เพิ่มเติมไปจากบริเวณมุขตะวันออกอย่างธรรมดา ตัวอย่างสำคัญของคริสต์ศาสนสถานที่มีชาเปลดาวกระจายก็ได้แก่มหาวิหารโนเทรอดามแห่งอาเมียงส์และมหาวิหารโนเทรอดามแห่งแรงส์ ในอังกฤษก็พบที่มหาวิหารนอริชและมหาวิหารแคนเตอร์บรี

คำว่า "Chevet" ในภาษาฝรั่งเศสนั้นหมายถึงบริเวณของมุขทิศตะวันออกโดยรวมๆ ซึ่งรวมถึง บริเวณแท่นบูชาเอก บริเวณร้องเพลงสวด มุขโค้งด้านสกัด จรมุข ชาเปลบริเวณมุขโค้ง โดยถ้าเปรียบเทียบกับไม้กางเขนแล้วจะเป็นบริเวณที่ตั้งของพระเศียรของพระเยซูนั่นเอง

ชาเปลบริเวณมุขโค้ง

ดูบทความหลักที่: ชาเปลบริเวณมุขโค้ง

ชาเปลบริเวณมุขโค้ง (ฝรั่งเศส: Absidiole, อังกฤษ: Apse Chapelle) เป็นชาเปลขนาดเล็กที่ยื่นออกไปจากบริเวณมุขด้านตะวันออก หรือจะยื่นออกจากจรมุขก็ได้ โดยปกติมักจะมีมากกว่า 1 แห่งขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวณมุขโค้งด้านสกัด จัดเป็นหนึ่งองค์ประกอบของ "Chevet"

จรมุข

จรมุข (ambulatory) หมายถึงช่องทางเดินที่โค้งรอบมุขรอบหลังแท่นบูชาและบริเวณร้องเพลงสวดเพื่อให้ผู้เดินใช้ชาเปลภายในบริเวณนั้นหรือชาเปลดาวกระจายได้ จรมุขอาจจะหมายถึงซุ้มทางเดินภายในระเบียงคดภายในสำนักสงฆ์ หรือทางเดินอื่นรอบๆ คริสต์ศาสนสถานด้วยก็ได้