ความขัดแย้ง ของ มู่หลาน_(ภาพยนตร์_พ.ศ._2563)

การคว่ำบาตร

หลิว อี้เฟย์ ได้บทนำเป็นมู่หลาน

เริ่มมีการเรียกร้องให้คว่ำบาตรภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากที่หลิว อี้เฟย์ ผู้แสดงเป็นมู่หลาน แชร์โพสต์จากหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์เดลี (People's Daily) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นรูปฟู่ กั๋วหาว (付國豪) นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ โกลบ็อลไทมส์ (Global Times) ของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกผู้ชุมนุมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล รุมทำร้าย และหลิว อี้เฟย์ ลงข้อความประกอบว่า ภาพดังกล่าวเป็นความอัปยศของฮ่องกง และตนสนับสนุนตำรวจฮ่องกง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในระดับสากลว่า หลิว อี้เฟย์ สนับสนุนให้ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม มีการใช้แฮชแท็ก #BoycottMulan (คว่ำบาตรมู่หลาน) เพื่อต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้ และแฮชแท็กดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว[10][11][12]

สืบเนื่องจากเรื่องดังกล่าว หลิว อี้เฟย์ จึงไม่เข้าร่วมงาน ดี23 เอ็กซ์โป 2019 ซึ่งเปิดให้สาธารณชนได้ชมตัวอย่างภาพยตร์เรื่องนี้[13]

การถอดบทนายกองหลี่

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เจสัน ที. รีด (Jason T. Reed) ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์นี้ แถลงว่า ได้ถอดบทของนายกองหลี่ (李少尉) ซึ่งเป็นคนรักของมู่หลานในฉบับแอนิเมชัน ออกจากฉบับภาพยนตร์ โดยกล่าวว่า การมีทหารอยู่ในภาพยนตร์ทำให้เป็นที่ลำบากใจอย่างยิ่ง[14] ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในกลุ่มหลากหลายทางเพศซึ่งมองว่า ความรักระหว่างนายกองหลี่ กับมู่หลานที่ปลอมตัวเป็นชาย เป็นความรักแบบไบเซ็กชวล[15][16]

เจสัน ที. รีด กล่าวว่า เบื้องต้นประหลาดใจที่ได้เสียงตอบรับดังกล่าว แต่ก็ยอมรับว่า ตัวละครนายกองหลี่นี้เป็น "ตัวแทนของกลุ่มหลากหลายทางเพศ" ไปแล้ว[17] ทั้งชี้แจงว่า ได้นำตัวละครใหม่สองตัวมาใส่แทนนายกองหลี่ คือ แม่ทัพต่ง กับเฉิน หงฮุย[15][17]

การไม่ใช้คนเอเชียกำกับ

ดิสนีย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ใช้คนผิวขาวเป็นผู้กำกับภาพยนตร์นี้ แทนที่จะใช้ชาวเอเชีย เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นิกี คาโร (Niki Caro) ผู้รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ แถลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ว่า แม้ภาพยนตร์นี้จะเป็นเรื่องจีนและดำเนินเรื่องในวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์จีน แต่ก็มีวัฒนธรรมอื่นเจือปนอยู่ด้วย ซึ่งก็คือวัฒนธรรมของดิสนีย์ ใครก็ตามที่มากำกับต้องคุมได้ทั้งสองวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ตนได้รับตำแหน่งผู้กำกับ[18]

การถ่ายทำในซินเจียง

ภาพยนตร์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ถ่ายทำในซินเจียงอันเป็นที่ตั้งค่ายกักกันชาวเติร์ก และท้ายภาพยนตร์ ดิสนีย์ยังขึ้นข้อความขอบคุณหน่วยงานราชการจีนหลายแห่ง รวมถึงคณะกรรมการท้องถิ่นหลายคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับสำนักความมั่นคงสาธารณะ (public security bureau) ซึ่งควบคุมค่ายกักกันดังกล่าว[19][20]

จอช ฮอว์ลีย์ (Josh Hawley) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ มีหนังสือเรียกให้บ็อบ ชาเพก (Bob Chapek) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดิสนีย์ ชี้แจงว่า รัฐบาลจีนเกี่ยวข้องอย่างไรในภาพยนตร์นี้[21] และมูลนิธิสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation) มีหนังสือถึงบ็อบ ชาเพก ให้ดิสนีย์แถลงประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจน และพิจารณาบริจาครายได้ของภาพยนตร์เพื่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในซินเจียง[21]

รอยเตอส์รายงานว่า หลังจากที่ภาพยนตร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับสากลโดยมีประเด็นเชื่อมโยงกับซินเจียง รัฐบาลจีนได้ห้ามสื่อมวลชนในประเทศเสนอข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์นี้[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: มู่หลาน_(ภาพยนตร์_พ.ศ._2563) http://filmmusicreporter.com/2018/08/22/harry-greg... http://www.imdb.com/title/tt4566758/ http://www.rottentomatoes.com/m/mulan_2020/ https://brandinside.asia/mulan-2020-disney-plus/ https://thestandard.co/a-quiet-place-2-top-gun-mav... https://thestandard.co/mulan-unveil-this-3-septemb... https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-517071... https://www.bbc.com/news/world-54064654 https://www.bbc.com/news/world-asia-china-49373276 https://www.boxofficemojo.com/title/tt4566758/