ยางพาราในประเทศไทย

การปลูกยางพาราในประเทศไทยไม่มีหลักฐานบันทึกแน่นอน แต่คาดว่าน่าจะเริ่มมีการปลูกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442-2444 ซึ่งพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น นำเมล็ดยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก เนื่องจากพริกไทยราคาตกต่ำ [1] ซึ่งชาวบ้านเรียกต้นยางชุดแรกนี้ว่า "ต้นยางเทศา"[2] และต่อมาได้มีการขยายพันธ์ยางมาปลูกในบริเวณจังหวัดตรังและนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2454 ได้มีการนำพันธุ์ยางมาปลูกในจังหวัดจันทบุรีซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) เป็นผู้นำพันธุ์ยางมาปลูก และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการขยายพันธุ์ปลูกยางพาราใน 14 จังหวัดภาคใต้ และ 3 จังหวัดภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์ยางมาปลูกในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือยางพาราประเภทยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เป็นพืชสร้างรายได้ส่งออกมากเป็นอันดับสอง[ต้องการอ้างอิง] และมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในปี พ.ศ. 2543 มีผลผลิตจากยางธรรมชาติประมาณ 2.4 ล้านตัน มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 124,000 ล้านบาท เดิมพื้นที่ที่มีการปลูกยางส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ในปัจจุบันมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยเฉพาะยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษ จัดเป็นยางพาราคุณภาพดีไม่ต่างจากแหล่งผลิตเดิมในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกยางทั่วประเทศมีทั้งหมด 55.1 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกจริงมีประมาณ 19 ล้านไร่เกษตรกร 1,200,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท[ต้องการอ้างอิง]