ศาสนา ของ ยุคมูโรมาจิ

พระพุทธศาสนานิกายมหายาน

วัดนังเซ็ง (ญี่ปุ่น: 南禅寺 โรมาจิNanzen-ji) ตั้งอยู่ที่นครเกียวโต เป็นวัดที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองพุทธศาสนานิกายเซ็นสำนักริงไซ

พุทธศาสนาในยุคมูโรมาจิมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากยุคคะมะกุระ โดยเฉพาะนิกายในกลุ่ม"พุทธศาสนาใหม่" ได้แก่นิกายเซ็นและนิกายแดนบริสุทธิ์รุ่งเรืองในยุคมูโรมาจิ ในยุคมุโระมะชิพุทธศาสนานิกายเซ็น (Zen Buddhism) ซึ่งเผยแพร่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ญี่ปุ่นช่วงปลายสมัยคะมะกุระขึ้นมามีอำนาจเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนฯ รัฐบาลโชกุนมุโระมะชิมีอำนาจในการจัดการการปกครองคณะสงฆ์นิกายเซ็นในญี่ปุ่น หลักการและคำสอนของนิกายเซ็นเน้นเรื่องการวิปัสสนาและการฝึกจิตฝึกตน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตนักรบของชนขั้นซะมุไร หลักปฏิบัติของนิกายเซ็นประกอบด้วย ซะเซ็ง (ญี่ปุ่น: 座禅 โรมาจิZazen การนั่งสมาธิ) โคอัง (ญี่ปุ่น: 公案 โรมาจิKōan การปุจฉาวิสัชนา) และซะมุ (ญี่ปุ่น: 作務 โรมาจิSamu การฝึกตน) ในสมัยมุโระมะชิ นิกายเซ็นในญี่ปุ่นมีสองสำนักด้วยกันได้แก่

ในบรรดาสองสำนัก นิกายเซ็นสำนักริงไซได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลโชกุนฯมากที่สุด พระสงฆ์ในนิกายริงไซมีบทบาทและอำนาจในการเมือง ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ตืดต่อสื่อกลางระหว่างรัฐบาลโชกุนและราชสำนักจีนราชวงศ์หมิง เป็นผู้แปลภาษาและเป็นผู้นำคณะทูต ในสมัยของโชกุนโยะชิมิสึมีการนำรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์นิกายเซ็นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยคามากูระขึ้น เรียกว่า ระบบปัญจบรรพต หรือ โกะซัง (ญี่ปุ่น: 五山 โรมาจิGozan) ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยจัดแบ่งวัดนิกายเซ็นออกเป็นระดับต่างๆ โดยที่มีวัดห้าแห่งในเมืองคะมะกุระเป็นวัดระดับสูง ต่ำกว่าวัดระดับสูงหรือโกะซังลงมาคือวัดระดับกลางเรียกว่า จิเซ็ตซึ (ญี่ปุ่น: 十刹 โรมาจิJissetsu) และต่ำกว่าวัดระดับกลางลงมาเรียกว่าวัดระดับล่าง เรียกว่า โชะซัง (ญี่ปุ่น: 諸山 โรมาจิShozan) ซึ่งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะได้นำพุทธศาสนานิกายเซ็นเข้ามาสู่นครหลวงเกียวโตและนำระบบปัญจบรรพตจากเมืองคามากูระมาด้วย โดยคณะสงฆ์นิกายเซ็นในเมืองเกียวโตถูกปกครองแบบลำดับชั้นโดยมีวัดใหญ่ห้าแห่งในเมืองเกียวโตมีอำนาจสูงสุด เฉกเช่นเดียวกับที่เมืองคามากูระรัฐบาลโชกุนรื้อฟื้นระบบการปกครองสงฆ์ที่เมืองคามากูระขึ้นมาใหม่

นิกายเซ็นสำนักโซโตแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนแต่ก็มีผู้นับถือจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นซะมุไรระดับล่างและชนชั้นสามัญชนชาวนาทั่วไป อย่างไรก็ตามพุทธศาสนานิกายแดนบริสุทธิ์อมิตพุทธ หรือ โจโด (ญี่ปุ่น: 浄土 โรมาจิJōdo Pure Land Buddhism) เป็นความเชื่อหลักที่สำคัญของชนชั้นล่าง เนื่องจากนิกายแดนบริสุทธิ์มีหลักการว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงแดนบริสุทธิ์ได้ด้วยการสวดเน็มบุซึ (ญี่ปุ่น: 念佛 โรมาจิNembutsu) หรืออมิตพุทธ อย่างเท่าเทียมกัน พระภิกษุเร็นเนียว (ญี่ปุ่น: 蓮如 โรมาจิRennyō) ก่อตั้งนิกายแดนบริสุทธิ์อันแท้จริง หรือ โจโด ชิงชู (ญี่ปุ่น: 浄土真宗 โรมาจิJōdo Shinshū) ซึ่งมีชนชั้นล่างชาวบ้านหันมานับถือจำนวนมาก จนนำไปสู่การกำเนิดของลิทธิอิกโก และการกบฎอิกโกอิกกิในที่สุด

สำหรับพุทธศาสนานิกายดั้งเดิมอื่นๆของญี่ปุ่นเช่น เท็งได และ ชิงงอน ยังคงดำรงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับพุทธศาสนานิกายใหม่ๆดังที่ได้กล่าวในข้างต้น

ศาสนาคริสต์

ภาพของ นักบุญฟราน ซิสซาเวียยร์ จากพิพิธภัณฑ์เมืองโคเบะ

นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ ได้พบกับชายชาวญี่ปุ่นชื่อว่า อังจิโร่ (Anjirō) ที่เมืองมะละกาของโปรตุเกสในค.ศ. 1547 สองปีต่อมาค.ศ. 1549 นักบุญฟรานซิสซาเวียร์ได้นำคณะมิชชันนารีเยซูอิตมาถึงประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นครั้งแรกพร้อมกับอังจิโร่ คณะมิชชันนารีเยซูอิตประสบปัญหาทางด้านภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ในระยะแรกคณะมิชชั้นนารีใช้คำว่า "ไดนิชิ" (ญี่ปุ่น: 大日 โรมาจิDainichi) เป็นคำที่ใช้แทนพระเจ้าเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคนญี่ปุ่น ซึ่งไปพ้องความหมายกับพระไวโรจนพุทธะในพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำให้คณะสงฆ์ในญี่ปุ่นเข้าใจว่าคณะเยซูอิตนับถือพระพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาคณะเยซูอิตเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ไดนิชิ จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า "เดอุส" (Deus) แทนพระเจ้า ทำให้คณะสงฆ์ญี่ปุ่นตระหนักว่าคณะเยซูอิตกำลังเผยแพร่ศาสนาที่แตกต่าง นักบุญฟรานซิสซาเวียร์พำนักที่เมืองคะโงะชิมะและยะมะงุชิ หลังจากอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้หนึ่งปีนักบุญฟรานซิสซาเวียร์จึงเดินทางกลับอินเดีย จากนั้นคณะเยซูอิตยังคงปฏิบัติงานต่อในญี่ปุ่น โดยมีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์โดยเฉพาะในเกาะคีวชูและภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยชาวญี่ปุ่นทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงไดเมียวเจ้าครองแคว้น รัฐบาลโชกุนฯอนุญาตให้มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในค.ศ. 1559 แต่ทว่าราชสำนักเกียวโตจักรพรรดิโองิมะชิมีพระราชโองการห้ามการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในค.ศ. 1565 อย่างไรก็ตามคำสั่งเหล่านี้ไม่สามารถส่งเสริมหรือห้ามปรามกิจกรรมของมิชชันนารีได้เนื่องจากทั้งสองสถาบันไม่มีอำนาจในทางการเมืองในทางพฤตินัย