ยุทธศิลป์

ในวิชาทฤษฎีทหาร ยุทธศิลป์ (อังกฤษ: operational art) คือกระบวนการการประยุกต์การใช้ความคิดของ ผู้บัญชาการรบและฝ่ายเสนาธิการในการวางแผนจากประสบการณ์ ความรู้ และทักษะ[1] เป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างกลยุทธ์ (strategy) กับยุทธวิธี (tactics)[2] โดยทั่วไปแล้วเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้บัญชาการรบ โดยอาศัยประสบการณ์ การศึกษาข้อมูล การตกลงตัดสินใจ คณะฝ่ายเสนาธิการ และผู้มีความรู้เกี่ยวกับการยุทธ์ที่จะเกิดขึ้น[1] ยุทธศิลป์ประกอบด้วยปัจจัยทางยุทธการสี่ประการ ได้แก่ เวลา พื้นที่ กำลัง และจุดประสงค์ ในหลักนิยมทางทหารของกองทัพสหรัฐ ได้ระบุว่า "ยุทธศิลป์เปรียบเสมือนการใช้กำลังทหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์หรือทางยุทธการด้วยการวางแผนแบบ การจัดองค์กร การประสานเชื่อมต่อ และการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ ด้วยการทำสงคราม ด้วยปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ และด้วยการยุทธย่อยประกอบกัน ยุทธศิลป์เป็นสิ่งที่แปลความหมายยุทธศาสตร์ของ ผบ.กำลังรบร่วมฯ ออกมาในรูปแบบการวางแผนแบบระดับยุทธการ"[3] และมีอีกคำนิยามคือ "ยุทธศิลป์เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การเตรียมการ การอำนวยการ และการดำรงสภาพกำลังทหารฝ่ายตนและฝ่ายเดียวกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธการหรือทางยุทธศาสตร์ในเขตสงครามที่กำหนดให้ โดยการใช้ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่จนถึงการทำสงคราม"องค์ประกอบของยุทธศิลป์มีขอบเขตกว้างมากและยังไม่มีการกำหนดตายตัว แต่เป็นที่ยอมรับว่ายุทธศิลป์มีความเกี่ยวพันกับทุกเรื่องที่เอื้ออำนวยให้สัมฤทธิ์เป้าหมายทางยุทธการทั้งทางตรงและทางอ้อม[2] ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยทางยุทธการ หน้าที่ทางยุทธการ, หลักการสงคราม องค์ประกอบของสงครามระดับยุทธการ วิธีใช้กำลังรบ การวางแผนและฝึกทางยุทธการ และภาวะผู้นำ