ประวัติ ของ ย่านบางแค

บ้านเรือนบริเวณคลองราชมนตรีเดอะมอลล์บางแค

ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายเปิดขายข้าวไม่จำกัด ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางฝั่งธนบุรีที่กระจุกตัวไม่ห่างจากริมน้ำนัก ได้ขยายออกไป ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญ เสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2415 เป็นคลองที่เชื่อมหัวเมืองแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ในช่วงหลังขุดคลองนี้เองทำให้พื้นที่ย่านบางแคเริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชน เช่น ชุมชนวัดรางบัว บริเวณวัดบางแค (วัดนิมมานรดี) ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดตลาดท้องน้ำขนาดใหญ่ขึ้น คือ ตลาดน้ำบางแคหรือตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดี เป็นพื้นที่บริเวณจุดตัดกันของคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญใกล้กับวัดนิมมานรดี เคยเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี[1] คับคั่งไปด้วยเรือสินค้าจำพวกพืชผลต่าง ๆ ทั้งเรือพายขายผักและผลไม้ของชาวสวนในละแวกบางแค บางขี้แก้ง บางแวก บางไผ่ ฯลฯ[2]

พ.ศ. 2500 ได้มีการสร้างถนนเพชรเกษม รวมถึงการสร้างซอยย่อย ถนนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งถนนสุขาภิบาล 1 ถนนสุขาภิบาลบางแค (ซอยเพชรเกษม 88) และถนนทางเข้าหมู่บ้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดชุมชนใหม่ ประกอบกับช่วงเวลานี้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยเส้นทางสายใต้ในระยะแรกได้จัดสถานีขนส่งสายใต้ที่แยกไฟฉาย โดยเส้นทางจำเป็นต้องผ่านถนนเพชรเกษมและบริเวณตลาดบางแค ทำให้ตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดีเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2516 มีการสร้างตลาดทวีทรัพย์ ในขณะเดียวกันบทบาทการค้าบริเวณปากคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญก็เริ่มลดลง

ย่านการค้าได้ย้ายมากระจุกตัวอยู่บริเวณถนนเพชรเกษมถัดจากตลาดทวีทรัพย์ ตั้งแต่สะพานข้ามคลองราชมนตรีไปถึงแยกถนนสุขาภิบาล 1 ต่อมามีการสร้างศูนย์การค้าวงษ์วิศิษฎ์ (พ.ศ. 2518) ตลาดศูนย์การค้าบางแค (พ.ศ. 2519) และตลาดใหม่บางแค (พ.ศ. 2520) ยังมีการเปิดห้างสรรพสินค้าระดับกลาง ได้แก่ ห้างคาเธ่ย์และห้างวันเดอร์

ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ย่านบางแคเริ่มเสื่อมโทรมลง ชุมชนบางแคประสบกับมลภาวะทางน้ำ ส่งผลต่อตลาดริมน้ำ ทำให้ต้องยกเลิกไปในที่สุด การคมนาคมทางบกเริ่มขยายตัว เกิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ย่านปิ่นเกล้า พระราม 2 ล้วนส่งผลให้ย่านบางแคถูกลดความสำคัญลง[3] ราว พ.ศ. 2530–2539 ย่านบางแคก็มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามาเปิดมากถึง 5 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ ห้างสรรพสินค้าไอทีแกรนด์ ห้างสรรพสินค้าเซฟโก้ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางแค แต่หลังสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พ.ศ. 2540 มีผลให้ห้างสรรพสินค้าบางแห่งย่านบางแคไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องขายกิจการ และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน ศูนย์การค้าเดอะมอลล์เป็นเพียงศูนย์การค้าเดียวที่ปรับตัวฝ่าวิกฤตจนเปิดให้บริการเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน[4]

ใกล้เคียง