ลักษณะ ของ ระหัด

ระหัดในประเทศไทยมักทำด้วยไม้สักเนื่องจากทนน้ำ[5][9][10] ระหัดมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ รางน้ำ ใบระหัด และกงระหัด

โครงรางน้ำ โดยมากใช้ไม้สักทำเป็นโครง มีความยาวประมาณ 3 – 6 เมตร ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ตีประกบทั้ง 2 ข้าง ให้รางน้ำซีกข้างบนโปร่ง ด้านล่างตีไม้ทึบ รางน้ำมีความสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร รางเป็นชั้นเดียว หรือสองชั้นหากรางมีความยาวมากซึ่งต้องแยกใบระหัดทั้งสองทางออกจากกัน

ใบระหัด โซ่ระหัด หรือลูกระหัด เป็นไม้แผ่นบางแบนเพื่อดันน้ำเข้าไปตามราง[1] เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 30 – 40 ใบ กว้างประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร เข้าเดือยใบระหัดแต่ละใบโดยใช้สลักตอกให้แกนใบยึดซึ่งกันและกัน ใบระหัดยึดคล้องกันแบบลูกโซ่ มีความยาวประมาณ 2 เท่า ของรางน้ำ ระหัดวิดน้ำอาจมีขนาดสั้นและยาวตามความต้องการของผู้ใช้

เพลา หรือกงระหัด หรือจักรระหัด มี 2 ชิ้นหัวและท้ายราง เป็นท่อนไม้วงกลมใช้ไม้หรือเหล็กเป็นแกน เจาะรูหลวม ๆ ให้หมุนได้สะดวก มีลักษณะคล้ายฟันเฟือง 6 หรือ 8 ซึ่ หมุนสับกันเป็นวง ทำหน้าที่ชักดึงให้ใบระหัดเคลื่อนหมุนได้ด้วยแรงหมุน แรงที่หมุนเพลานี้อาจต่อเข้ากับมือหมุน 2 ข้างจะทำเป็นแกนมีที่จับ เจาะรูยึดกับแกนเพลา ใช้หมุนโดยการดึงสลับข้างกัน มือหมุนอาจต่อกับไม้ชักอีกทีเพื่อทุ่นแรง (คล้ายการถีบจักรยาน) ข้อจํากัดของระหัดมือที่ คือ ต้องใช้แรงคนซึ่งไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงพัฒนาโดยต่อการฉุดเพลาเข้ากับแรงอื่น ได้แก่ เท้าถีบ หรือเพลาเดิน หรือใช้แรงสัตว์เทียมกับล้อเพลาที่มีฟันเฟืองผ่านแรง หรือใช้แรงกลแปลงจากกระแสน้ำหรือลม หรือเครื่องยนต์เป็นตัวฉุด และมีรางขนาดใหญ่ขึ้น[1]

เวลาใช้จะวางระหัดด้านปลายจุ่มไปในน้ำให้เอียงทอดไปบนคันนา ซึ่งมีความลาดชันไม่มากเกิน ดึงมือหมุนทีละข้างสลับกันไปเรื่อย ๆ แกนเพลาเมื่อหมุนแล้วจะทำให้ฟันเฟืองและใบระหัดหมุนตาม ใบระหัดจะพุ้ยน้ำหรือตักน้ำขึ้นมาในรางและไหลออกตรงช่องมือหมุน การวิดระหัดอาจใช้คนเดียวหรือ 2 คน ช่วยกันหมุน ซึ่งทำให้ผ่อนแรงได้มากการใช้ระหัดวิดน้ำนอกจากใช้เพื่อการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้วิดน้ำหาปลาได้อีกด้วย

ปัจจุบันในประเทศไทยไม่นิยมใช้ระหัดวิดน้ำในการกสิกรรมแล้ว โดยส่วนมากเกษตรกรหันมาใช้เครื่องสูบน้ำเข้ามาแทน แต่อาจพบเห็นได้ในนาเกลือซึ่งเป็นระหัดที่ีใช้แรงกลแปลงจากกระแสลม

แหล่งที่มา

WikiPedia: ระหัด http://base.d-p-h.info/en/fiches/dph/fiche-dph-786... http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6116/122 http://www.dede.go.th/dede/index.php?id=526 https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=skit&m... https://sites.google.com/site/reuxniprathesthiy/mi... https://www.silpa-mag.com/history/article_38125 https://www.swsawmill.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8... https://www.tribuneindia.com/news/archive/haryanat... https://indianculture.gov.in/images/rahat-traditio... https://www.indiawaterportal.org/articles/persian-...