ส่วนประกอบและสารอาหารของรังนก ของ รังนก_(อาหาร)

รังนก เป็นอาหารเสริม สุขภาพหรือบำรุงร่างกายชนิดหนึ่งที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวจีนและกลุ่มคนที่มีฐานะดี ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นอาหารฟังก์ชัน โดยในอดีตนั้นรังนกนางแอ่นที่ต้มกับน้ำตาลกรวดได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารบำรุงชั้นยอดของฮ่องเต้ ตลอดจนกลุ่มชนชั้นสูงของจีน วัฒนธรรมการรับประทานรังนกในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์และ ประเทศอื่นๆ พลอยได้รับวัฒนธรรมนี้ถ่ายทอดจากชาวจีนด้วยและยังพบหลักฐานว่าในสมัยราชวงค์หมิงตอนปลายนั้น เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยามักจะมีรังนกเป็นส่วนผสมเสมอ เพราะแพทย์จีนเชื่อว่ารังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็ก สตรีและคนชรา ช่วยบำรุงผิวพรรณของสตรีให้มีความนุ่มนวลอ่อนเยาว์ ช่วยบำรุงปอดและเลือด และช่วยบำรุงสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้นรวมทั้งสตรีหลังคลอดบุตร[ต้องการอ้างอิง]

รังนก เป็นผลิตผลที่ได้จากน้ำลายของนกแอ่นกินรัง ซึ่งอยู่ในกลุ่มนกแอ่นสวิฟต์เลต (Swiftlet) ซึ่งเป็นกลุ่มนกแอ่นที่ทำรังด้วยน้ำลายซึ่งนำรังมากินได้
โดยในปีหนึ่งๆจะสามารถเก็บรังนกได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น
ครั้งที่ 1 จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ รังนกที่เก็บในครั้งแรกนี้จะเป็นรังนกที่มีคุณภาพดีที่สุด มีรูปร่างเป็น Perfect Cup Shape ที่ดีที่สุด เนื้อหนา ชิ้นใหญ่ สะอาด และสารอาหารสูง
ครั้งที่ 2 จะเก็บได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม จากนั้นจะปล่อยให้นกทำรังและวางไข่ โดยนกจะวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน
ครั้งที่ 3 เดือนกรกฎาคม เมื่อลูกนกโตเต็มที่และพร้อมที่จะออกจากรังไปพร้อมกับพ่อแม่ รังนกที่เหลืออยู่ในถ้ำจึงจะถูกเก็บเป็นครั้งที่สาม และนกเหล่านี้จะบินกลับมาอีกครั้งในเดือนธันวาคมของทุกปี วนเวียนเช่นนี้ตลอดไป ตราบใดที่ยังคงมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์เช่นนี้ต่อไปในอนาคต

จำนวนรังนกที่เก็บได้ในแต่ละปีจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนนกที่อาศัยอยู่ในเกาะแต่ละเกาะ ดังนั้นผู้รับสัมปทานจะพยายามเพิ่มปริมาณนกโดยการดูแลรักษาธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของเกาะที่นกอาศัยอยู่ไม่ให้มีการเสื่อมสลายไป บนเกาะรังนก ต้นไม้ทุกต้นจะถูกอนุรักษ์ดูแลอย่างดี ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ปลาทะเลต่างๆรอบเกาะก็จะมีชุกชุม เพราะจะไม่มีการระเบิดปลา หรือใช้แหจับปลาในบริเวณรอบๆเกาะ การที่ต้องดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวดเป็นเพราะเกรงกันว่าถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนอาจมีผลกระทบกับจำนวนนกนางแอ่นที่มาอาศัย การวางไข่และการฟักตัวของนกนางแอ่นก็เช่นกัน ผู้รับสัมปทานจะต้องดูแลไม่ให้มีการรบกวนนก เพราะหากมีการรบกวนนกในช่วงนกวางไข่ อาจทำให้นกวางไข่น้อยและมีการฟักตัวของลูกนกน้อยตามไปด้วย ซึ่งนั่นก็หมายถึงปริมาณรังนกที่จะน้อยลงในปีต่อๆไป[ต้องการอ้างอิง]

เนื่องจากรังนกมีผู้สนใจรับประทานกันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย จึงมีธุรกิจการทำรังนกเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกจำหน่าย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริโภค เช่น เครื่องดื่มรังนกแท้ เครื่องดื่มรังนกผสมโสม

ในการผลิตเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปพร้อมดื่มโดยส่วนใหญ่ มีขั้นตอนคร่าวๆ คือ นำรังนกแห้งมาทำความสะอาด กำจัดขน และสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด หลังจากนั้นจึงตุ๋นต้มรังนกกับน้ำ เพื่อให้เนื้อรังนกมีความอ่อนนุ่ม แล้วจึงเติมน้ำตาลกรวด ต่อจากนั้นจึงนำไปแบ่งบรรจุใส่ขวดแล้วนำไปฆ่าเชื้อด้วยระบบสเตอริไรด์เซชั่น[ต้องการอ้างอิง]

กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้ทำการตรวจวิเคราะห์เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป พบโปรตีน ร้อยละ 0.53-1.45 และเป็นโปรตีน ที่แตกต่างจากโปรตีนในไข่ เมื่อทำการย่อยโปรตีนในเครื่องดื่มรังนกเช่นเดียวกับขบวนการย่อยของร่างกายแล้วตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นในเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป และนำมาเปรียบเทียบกับกรดอะมิโนจำเป็นที่กำหนดการจัดรูปแบบโดยคณะกรรมการร่วม FAO/WHO แสดงค่าตามตารางที่ 2 [4]

ตารางที่ 2 แสดงชนิดและปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นในเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป

FAO/WHO, 1973เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป
กรดอะมิโนจำเป็นมิลลิกรัม/กรัมโปรตีนมิลลิกรัม/กรัมโปรตีนAmino acid score
ไอโซลิวซีน4021.7854
ลิวซีน7057.8683
ไลซีน5542.5177
เมทธิโอนีน + ซีสตีน (5-containing amino acids)3525.6147
ฟินิลอะลานิน + ไทโรซีน (Aromatic amino acids)60137.02228
ทรีโอนีน4053.33133
ทริพโตเฟน1013.55134
วาลีน5047.6295

จากคุณประโยชน์ของรังนกและความยากลำบากในการเก็บรังนก ทำให้รังนกถือเป็นอาหารบำรุงสุขภาพที่มีราคาสูงมาก ซื้อขายกันประมาณกิโลกรัมละ 50,000 – 100,000 บาท ตามแต่ประเภทของรังนก ด้วยเหตุนี้ จึงมีรังนกปลอมที่เป็นผลิตภัณฑ์จากยางไม้เรียกว่า "กัม" (GUM) ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะหนืดไม่ละลายน้ำ แต่จะดูดน้ำทำให้พองตัวเป็นวุ้น เวลานำมาต้มจะไม่กระจายตัวเหมือนรังนกแท้ แต่จะมีความกระด้างไม่อ่อนนุ่ม เวลาเคี้ยวจะกรุบกรอบเหมือนวุ้น[ต้องการอ้างอิง]