ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ของ รัฐประหารเดือนพฤษภาคม

พระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

ในช่วงที่เซอร์เบียได้รับการปลดปล่อยออกจากจักรวรรดิออตโตมันในการปฏิวัติเซอร์เบียปีค.ศ. 1804 - 1835 ทำให้กลายเป็นราชรัฐอิสระที่ปกครองโดยฝ่ายต่าง ๆ แวดล้อมด้วยราชวงศ์โอเบรโนวิชและคาราจอร์เจวิช ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรีย-ฮังการีและคู่แข่งอย่างรัสเซีย[3] ราชตระกูลโอเบรโนวิชสนับสนุนออสเตรียในขณะที่ศัตรูอย่างราชตระกูลคาราจอร์เจวิชสนับสนุนรัสเซีย แต่ละราชตระกูลต่างมีมหาอำนาจคอยให้การสนับสนุนด้านการเงิน

หลังจากการลอบปลงพระชนม์เจ้าชายมิไฮโล โอเบรโนวิชที่ 3 ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1868 (ปฏิทินเก่า) พระญาติของพระองค์คือ เจ้าชายมิลาน โอเบรโนวิชที่ 4 ได้รับเลือกเป็นองค์อธิปัตย์แห่งเซอร์เบียพระองค์ต่อไป เจ้าชายมิลานทรงอภิเษกสมรสกับนาตาลี เคสโก ธิดาของขุนนางโบยาร์จากมอลเดเวีย เจ้าชายมิลานเป็นพระประมุขเผด็จการและไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ในระหว่างรัชกาลของพระองค์ เซอร์เบียกลายเป็นประเทศเอกราชและได้รับดินแดนในปีค.ศ. 1878 จากการประชุมใหญ่ที่เบอร์ลิน นับตั้งแต่รัสเซียได้พยายามสนับสนุนบัลแกเรียตามสนธิสัญญาซานสเตฟาโน เจ้าชายมิลานทรงอาศัยกำลังของออสเตรีย-ฮังการีในฐานะพันธมิตร เจ้าชายมิลานทรงสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ พระนาม พระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย พระชายาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีนาตาลียา ในปีค.ศ. 1882 กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้ในสงครามเซอร์เบีย-บัลแกเรียและกบฏติม็อคที่นำโดยกลุ่มของพรรคปฏิกิริยาประชาชน เหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำลายความนิยมในพระเจ้ามิลาน

สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นแม้กระทั่งพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ หลังจากอภิเษกสมรสเป็นเวลา 10 ปี พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงทะเลาะกันรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น พระเจ้ามิลานเป็นพระสาวมีที่ไม่ซื่อสัตย์และสมเด็จพระราชินีนาตาลียาทรงได้รับอิทธิพลอย่างมากต่อรัสเซีย ในปีค.ศ. 1886 ทั้งสองพระองค์ที่ไม่ทรงเข้ากันได้ทั้งเรื่องส่วนพระองคืและทัศนคติทางการเมืองก็ตัดสินพระทัยแยกกันประทับ สมเด็จพระราชินีนาตาลียาเสด็จออกจากราชอาณาจักรโดยทรงพาเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ (ต่อมาคือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1) พระโอรสพระชนมายุ 10 พรรษาไปกับพระนางด้วย ขณะที่สมเด็จพระราชินีประทับอยู่ที่วีสบาเดินในปีค.ศ. 1888 พระเจ้ามิลานทรงประสบความสำเร็จในการนำมกุฎราชกุมารคืนมาจากสมเด็จพระราชินี และพระองค์ทรงทำหน้าที่ให้การศึกษาพระโอรส ในขณะทรงตอบกลับการประท้วงของสมเด็จพระราชินี พระเจ้ามิลานทรงกดดันสังฆราชแห่งเบลเกรดและทรงได้รับการหย่าร้างกับสมเด็จพระราชินีซึ่งต่อมามีการประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

สมเด็จพระราชินีนาตาลียาแห่งเซอร์เบีย

ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1889 พระเจ้ามิลานทรงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่ารัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1869 สองเดือนถัดมา ในวันที่ 6 มีนาคม พระเจ้ามิลานทรงสละราชบัลลังก์แก่พระโอรสอย่างกะทันหัน โดยไม่ทรงมีเหตุผลเป็นที่น่าพอใจในการกระทำครั้งนี้ หลังจากสละราชบัลลังก์ อดีตพระเจ้ามิลานทรงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พระราชโอรส และเสด็จออกจากประเทศไปประทับที่ปารีสอย่างสามัญชน สมาชิกในคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประกอบด้วย โจวาน ริสติก, นายพลคอสตา โพรติกและนายพลโจวาน เบลิมาร์โควิก ฝ่ายปฏิกิริยาได้รับการพระราชทานอภัยโทษและกลับเข้าสู่การเมือง ฝ่ายปฏิกิริยาคือ ซาวา กรูจิกได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งต่อจากนั้นคือรัฐบาลของนิโกลา พาสิก หัวหน้าพรรคปฏิกิริยา หลังจากนโยบายสนับสนุนออสเตรียของพระเจ้ามิลาน ฝ่ายปฏิกิริยามีนโยบายใกล้ชิดกับรัสเซีย ในฤดูร้อน ค.ศ. 1891 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์และพาสิกได้เข้าพบพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย พระองค์สัญญาว่าจะไม่ให้ออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและรัสเซียจะสนับสนุนผลประโยชน์ของเซอร์เบียในดินแดนเซอร์เบียเก่าและภูมิภาคมาซิโดเนีย

อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียา พระมารดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในขณะที่จะมีการหย่าขาดกับพระเจ้ามิลาน พระนางทรงถูกเนรเทศออกจากเบลเกรดตามคำของของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เนื่องจากพระนางทรงขัดแย้งกับคณะผู้สำเร็จราชการ พระนางเสด็จไปประทับที่ชายฝั่งฝรั่งเศสที่เมืองบีอาร์ริตซ์พร้อมกับนางสนองพระโอษฐ์ของพระนางคือ ดรากา มาซิน

หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของโพรติก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1892 ได้เกิดความขัดแยังระหว่างนิโกลา พาสิก ซึ่งต้องการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เอง กับผู้สำเร็จราชการอีกคนหนึ่งคือ ริสติก ซึ่งไม่ชอบพาสิก ในปีค.ศ. 1892 ริสติกได้ถ่ายโอนอำนาจรัฐฐาลแก่พรรคเสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคที่เขาเกี่ยวข้องด้วย และได้แต่งตั้งโจวาน อะวาคูโมวิกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ การกระทำเช่นนี้และการดำเนินการของพรรคเสรีนิยมทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงในประเทศ ในวันที่ 1 (วันที่ 13) เมษายน ค.ศ. 1893 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงมีอุบายที่ประสบความสำเร็จโดยมีพระบัญชาให้ขังคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระราชวัง และทรงประกาศพระองค์เองว่าทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์ทรงเรียกฝ่ายปฏิกิริยามาเข้าเฝ้า มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วตั้งแต่ ลาซาร์ โดกิก, ซาวา กรูจิก, จอร์เจ ซีมิกและสเวโตซาร์ นิโกลาเจวิก หนึ่งในทหารที่ช่วยให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จับกุมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือผู้ซึ่งต่อมาเป็นพันเอก ลาซา เปโทรวิก

ในช่วงต้นรัชกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงถูกกำหนดบทบาทโดยรัฐบาลทั้งในเรื่องการทหาร เศรษฐกิจและชีวิตทางการเงินของรัฐ พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง และเพื่อยับยั้งฝ่ายปฏิกิริยา ในวันที่ 9 มกราคม พระองค์ทูลเชิญให้พระราชบิดาเสด็จกลับเซอร์เบีย รัฐบาลฝ่ายปฏิกิริยาได้ประกาศลาออกโดยทันทีและย้ายไปเป็นฝ่ายค้าน อทธิพลของอดีตพระเจ้ามิลานอาจจะสามารถเห็นได้ในทันทีหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับเซอร์เบีย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงพยายามรักษานโยบายความเป็นกลางของรัฐบาลแต่พระองค์ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จมากนัก ดังนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1894 พระองค์ก็ทรงก่อการรัฐประหารอีกครั้ง ทรงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1888 และประกาศบังคบใช้รัฐธรรมนูญเก่าคือ ฉบับปีค.ศ. 1869 อดีตพระเจ้ามิลานเสด็จกลับเซอร์เบียได้ไม่นานเนื่องจากทรงมีความขัดแย้งกับพระราชโอรสอย่างรวดเร็ว หนึ่งสัปดาห์หลังจากอดีตพระเจ้ามิลานออกเดินทาง อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียาก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสด็จกลับเซอร์เบีย[4] พระนางนาตาลียาทูลเชิญให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เสด็จมาเยี่ยมที่บีอาร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อทรงเยี่ยมพระราชมานดา พระองค์ทรงพบกับดรากา ผู้ซึ่งมีอายุมากกว่าพระองค์ถึง 12 ปี พระองค์ทรงตกหลุมรักดรากาในทันที อดีตสมเด็จพระราชินีนาตาลียาทรงทราบถึงเรื่องราวนี้แต่พระองค์ก็ไม่สนพระทัยมากนัก ด้วยทรงเชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์เพียงระยะสั้น ๆ

ในขณะเดียวกัน พรรคก้าวหน้าเซอร์เบียนำโดยสโตยัน โนวาโควิกได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยพระบัญชาของพระราชบิดา พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เสด็จเยือนเวียนนา และทรงลงพระนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีระหว่างเซอร์เบียกับออสเตรีย พระองค์ทรงปูนบำเหน็จแก่เบนี คัลเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรียและรัฐมนตรีประจำบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา การที่ทรงทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อเซอร์เบียเพราะได้สร้างแนวโน้มให้ออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา[4] เกิดเป็น "วิกฤตการณ์บอสเนีย"

การอภิเษกสมรสกับดรากา มาซิน ลุนเยวิกา

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีดรากา

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทูลเชิญให้พระราชบิดาเสด็จกลับมาอีกครั้ง เมื่ออดีตพระเจ้ามิลานเสด็จมาถึงในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1897 รัฐบาลใหม่ได้ถูกจัดตั้งโดย วลาดัน จอร์เจวิก ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อดีจพระเจ้ามิลานทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพที่ปฏิบัติหน้าที่แห่งราชอาณาจักรเซอร์เบีย พร้อม ๆ กันกับรัฐบาลใหม่ อดีตพระเจ้ามิลานทรงคัดเลือกเจ้าหญิงจากประเทศตะวันตกที่เหมาะสมพอจะเป็นพระชายาในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แต่พระองค์ไม่ทรงรู้ว่าพระโอรสทรงคบหาอยู่กับดรากา

เนื่องจากอดีตพระเจ้ามิลานทรงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นทุกวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของพระองค์ทรงต่อต้านฝ่ายปฏิกิริยาอย่างรุนแรง กลุ่มแรงงานที่ว่างงานได้พยายามลอบปลงพระชนม์อดีตพระเจ้ามิลานใน "เหตุการณ์อิวานดัน" ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1899 เพราะว่าพระองค์ทรงแก้แค้นฝ่ายปฏิกิริยาในทุกทาง แต่การลอบปลงพระชนม์ล้มเหลว อย่างไรก็ตามพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงจำต้องพยายามกำจัดพระราชบิดาของพระองค์ไปให้พ้นทางเพื่อพระองค์จะได้อภิเษกสมรสกับดรากา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระราชบิดาและนายกรัฐมนตรีจอร์เจวิกออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ โดยมีข้ออ้างคือเพื่อให้ไปเจรจาตกลงเรื่องการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์ เจ้าหญิงเยอรมัน พระธิดาในเจ้าชายวิลเลียมแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงส่งพระราชบิดาไปยังคาร์ลส์บัด และให้นายกรัฐมนตรีจอร์เจวิกไปยังมาเรียนบัดเพื่อลงนามในสนธิสัญญากับออสเตรีย-ฮังการี[4] ทันทีที่ทรงขับไล่ฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ออกไป พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงประกาศหมั้นกับดรากา มาซิน

ความนิยมในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ลดลงอย่างมากหลังจากทรงอภิเษกสมรสกับดรากา มาซิน ลุนเยวิกา อดีตนางสนองพระโอษฐ์ใน สมเด็จพระราชินีนาตาลียา พระราชมารดาของพระองค์ และดรากา มาซินเคยสมรสมาก่อนกับวิศวกรชื่อ สเวโตซาร์ มาซิน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ดรากามีอายุมากกว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ถึง 12 ปี ช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากที่พระมหากษัตริย์หรือองค์รัชทายาทอภิเษกสมรสกับสตรีที่ไม่ได้มาจากชนชั้นขุนนาง อดีตพระเจ้ามิลาน พระราชบิดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสครั้งนี้และทรงปฏิเสธที่จะกลับเซอร์เบีย พระองค์เสด็จสวรรคตในกรุงเวียนนา ปีค.ศ. 1901 ฝ่ายที่ต่อต้านการอภิเษกสมรสนี้อีกกลุ่มคือ สมเด็จพระพันปีหลวงนาตาลียา พระนางทรงเขียนจดหมายถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทั้งหมดเป็นเรื่องข่าวลือที่น่ารังเกียจที่สุดในตัวของดรากาที่แพร่หลายในรัสเซีย อันดรา จอร์เจวิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ไปยังสังฆมณฑลแห่งเบลเกรดเพื่อขอให้พวกเขาปฏิเสธที่จะให้พรแก่ทั้งสองพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เสด็จไปยังสังฆมณฑลเช่นกันและทรงขู่ว่าจะสละราชบัลลังก์ถ้าไม่ประทานพรให้ รัฐบาลของจอร์เจวิกได้ลาออกทั้งคณธ ถือเป็นสัญญาณของการต่อต้าน ผู้ต่อต้านการอภิเษกสมรสอย่างดุเดือดคือ จอร์เจ เกนซิก รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในในรัฐบาลของวลาดัน จอร์เจวิก เนื่องจากเขาได้ออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีพระบัญชาให้จับกุมเขาขังคุกเป็นเวลา 7 ปี สถานการณ์ได้คลี่คลายเมื่อพระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียทรงตกลงที่จะเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในการอภิเษกสมรสครั้งนี้

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย(กลาง) ภาพถ่ายก่อนปีค.ศ. 1903

การอภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 หนึ่งในทหารที่อยู่ในพระราชพิธีคือ ดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส ได้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับโลกภายนอกจากการอภิเษกสมรสที่ไม่เป็นที่นิยมนี้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศมายังรัสเซีย พระมหากษัตริย์ทรงปล่อยฝ่ายปฏิกิริยาออกจากคุกซึ่งถูกจับในเหตุการณ์อิวาดันที่พยายามลอบปลงพระชนม์อดีตพระเจ้ามิลาน

หลังจากการสวรรคตของอดีตพระเจ้ามิลาน พระราชบิดาของพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากการทรงพระครรภ์ของสมเด็จพระราชินีได้ถูกกล่าวหา (มีความลับที่แพร่หลายในสาธารณะและเชื่อว่าเป็นจริงคือ สมเด็จพระราชินีทรงเป็นหมันตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จากอุบัติเหตุ ซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ทรงเชื่อเรื่องนี้) พระองค์พระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษทางการเมืองทุกคน รวมทั้งจอร์เจ เกนซิกและฝ่ายปฏิกิริยาที่ยังหลงเหลืออยู่ วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1901 พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดย มิไฮโล วูจิก แห่งฝ่ายปฏิกิริยา รัฐบาลมีการรวมทั้งพรรคปฏิกิริยาประชาชนและพรรคก้าวหน้าเซอร์เบีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเนื้อหาหลักคือกำหนดระบบสองสภาแบ่งเป็น วุฒิสภา (สภาสูง) และสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ที่จะมาปกป้องผลประโยชน์ของพระองค์

สภาพพระครรภ์ที่ผิดพลาดของสมเด็จพระราชินีดรากาได้สร้างปัญหาใหญ่แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ปฏิกิริยาแรกมาจากพระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 2แห่งรัสเซีย พระองค์ไม่ทรงต้องการที่จะรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีหลังจากทรงมีแผนจะเสด็จเยือนรัสเซีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงตำหนิฝ่ายปฏิกิริยา พระองค์ทรงก่อการรัฐประหารครั้งใหม่และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายพล ดิมิทรีเจ ซินซา-มาร์โกวิชในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902[4]

เนื่องจากมีการขับไล่จากราชสำนักรัสเซียมากขึ้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงลองเข้าหาออสเตรียอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1902 โดยทรงดำเนินการก่อนหน้านี้แล้วในเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 ทรงส่งราชเลขาธิการส่วนพระองค์ไปยังกรุงเวียนนา ด้วยการให้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาทายาทในข้อตกลงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อนบ้านโดยการเลือกสายราชสันตติวงศ์จากเชื้อพระวงศ์โอเบรโนวิชฝ่ายหญิง ที่ประทับในออสเตรีย-ฮังการี[4] ในทางกลับกัน สมเด็จพระราชินีดรากาทรงเชื่อว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะทรงรับพระเชษฐาของพระนางคือ นิโกดิเย ลุนเยวิกา ให้เป็นผู้สืบราชบัลลังก์องค์ถัดไป

ดีมิทรีเย ทูโควิกได้จัดการชุมนุมประท้วงของเหล่ากรรมกรและนักศึกษาที่ไม่พอใจในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1903 ซึ่งได้ทำให้เกิดความขัดแย้งและเผชิญหน้ากับตำรวจและกองทัพเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน โดยเขารู้ว่าเขาไม่สามารถชนะในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงก่อการรัฐประหารทั้งสองครั้งในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ในรัฐประหารครั้งแรก พระเจ้าอเล็๋กซานเดอร์ทรงมีพระราชโองการยกเลิกรัฐธรรมนูญของพระองค์และยุบวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา, สามาชิกสภาแห่งรัฐและคณะตุลาการขึ้นมาใหม่ ในรัฐประหารครั้งที่สอง พระมหากษัตริย์ทรงประกาศฟื้นฟูรัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงยกเลิกไปในไม่กี่ชั่วโมงที่แล้ว[4] ตามมาด้วย รัฐบาลมีการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1903 (31 พฤษภาคม ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ซึ่งรัฐบาลได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง นี้ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองครั้งสุดท้ายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496