ผล ของ รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2520

ผลจากการยึดอำนาจคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น และมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 แทนจนกระทั่งถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 จึงมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2521 แทนและได้แต่งตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แล้ว รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้เพราะวุฒิสมาชิกซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนในการกำหนดผู้ที่จะเป็นรัฐบาลด้วย วุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งนี้คือผู้ที่กลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้นจึงสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งได้รับการวางตัวเป็นผู้นำของกลุ่ม

อย่างไรก็ตามเมื่อบริหารประเทศภายใต้ระบบรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 301 คนมาจากการเลือกตั้งมีส่วนในการควบคุมรัฐบาลอยู่บ้าง ยังดำเนินไปได้ไม่ครบปี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งเกษียณจากการเป็นทหารประจำการแล้วก็พบมรสุมการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากน้ำมันที่ขึ้นราคา โดยถูกกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 5 พรรคนำโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กำหนดจะเปิดอภิปรายในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศลาออกเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 กลางที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ลาออกแล้วจึงมีการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ระหว่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้า พรรคกิจสังคม ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้เลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นโดยได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523

อนึ่ง สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน อันเนื่องจากมีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ให้บรรดาผู้ที่เกิดในประเทศไทยที่มีพ่อแม่เป็นชาวต่างด้าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยมาแต่กำเนิด ก่อนจะใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้นต้องลงทะเบียนเสียก่อน และกำหนดให้ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้เป็นการผลักดันของ นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั่นเอง

สภานโยบายแห่งชาติ

สภานี้ตั้งขึ้นหลังจากปฏิวัติปี 2520 หลังจากปฏิวัติสำเร็จได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๑๙ และความสิ้นสุดของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ขึ้นแทนและได้ตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้นตามมาตรา 17 18 และ19 โดยได้ระบุไว้ว่าให้มีสภานโยบายแห่งชาติประกอบด้วยบุคคลในคณะปฏิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2520 เป็นสมาชิก และบอกไว้อีกว่าให้หัวหน้าคณะปฏิวัติทำหน้าที่ประธานสภา และรองหัวหน้าคณะปฏิวัติทำหน้าที่รองประธานสภาและให้สภาแต่งตั้งสมาชิกสภาเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการตามลำดับ และได้ระบุไว้อีกว่าถ้าประธานสภาไม่อยู่ให้รองประธานสภาทำหน้าที่แทน ประธานสภา และถ้าประธานสภาและรองประธานสภาไม่อยู่ให้เลือกสมาชิก 1 คนขึ้นมาทำหน้าที่แทนประธานสภาสภานี้มีหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐและให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินไปตามแนงนโยบายแห่รัฐและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและสภานโยบายแห่งชาตินี้ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2520

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500