วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา ของ รัฐพม่า

เมื่อสถานการณ์ในสงครามของญี่ปุ่น เริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจให้พม่าและฟิลิปปินส์เป็นเอกราชและเข้าร่วมในวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา ต่างจากแผนเดิมที่จะให้เอกราชเมื่อสิ้นสุดสงคราม นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจได้ให้สัญญาว่าเอกราชของพม่าจะได้รับการรับรองภายใน 28 มกราคม พ.ศ. 2486 ในสถานะที่พม่าประกาศสงครามกับฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดึงให้พม่าเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก่อตั้งขบวนการต่อต้านการกลับเข้ามาจัดตั้งอาณานิคมของชาติตะวันตก และเพิ่มการสนับสนุนทางการทหารแก่ญี่ปุ่น

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของพม่า จัดตั้งขึ้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม ปีเดียวกัน พม่าได้ประกาศเอกราชในนามรัฐพม่า และรัฐบาลทหารญี่ปุ่นแห่งพม่าได้สลายตัวไป รัฐที่เกิดใหม่ได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ดร. บามอว์ได้กลายเป็นประมุขรัฐในตำแหน่งอธิบดีแห่งพม่าตามรัฐธรรมนูญและมีอำนาจกว้างขวางมาก

รัฐบาลของรัฐพม่า

คณะรัฐมนตรีชุดแรกประกอบด้วย ดร.บามอว์ในฐานะประมุขรัฐ ทะขิ่นเมียะเป็นรองนายกรัฐมนตรี บะหวิ่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทะขิ่นนุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.เทียนหม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยอู เส็ต เมื่อเขาถูกญี่ปุ่นจับกุม นายพลอองซานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เทียน หม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฮลามินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาและสาธารณสุข ทะขิ่นตันตุนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อูเมียะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลุตสาหกรรม ทะขิ่นลายหม่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร บัณฑุละ อู เซนเป็นนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการ ตุนอ่องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือกับญี่ปุ่น ทะขิ่นลุนบอว์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูงานสาธารณะ

ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2486 ญี่ปุ่นได้มอบการปกครองรัฐฉานให้รัฐพม่ายกเว้นเชียงตุงกับเมืองพานที่ยกให้ประเทศไทย ดร.บามอว์ได้เข้าร่วมการประชุมวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาที่โตเกียวเมื่อ 5-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 กองทัพญี่ปุ่นยังคงอยู่ในพม่าแม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้ปกครองพม่าโดยตรง

ในช่วง พ.ศ. 2486 – 2487 กองทัพแห่งชาติพม่าได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ภายในพม่า รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่สู้รบใต้ดิน ต่อมา ได้จัดตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ โดยมีทะขิ่นโสเป็นผู้นำ พม่าได้ติดต่อกับอังกฤษโดยผ่านทางกลุ่มคอมมิวนิสต์และกองทัพป้องกันยะไข่ โดยติดต่อกับกองทัพอังกฤษ 136 ในอินเดีย ซึ่งกองทัพนี้ได้ติดต่อกองกำลังทหารกะเหรี่ยงในย่างกุ้ง เช่นเดียวกัน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2487 สันนิบาตเสรีชนได้ติดต่อมายังฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้สนับสนุนการลุกฮือขึ้นในพม่า การลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นครั้งแรกในพม่าตอนกลางเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2488 ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 กองทัพแห่งชาติพม่าได้สวนสนามในย่างกุ้งแสดงตนว่าจะช่วยญี่ปุ่นในการรบต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่ากองทัพแห่งชาติพม่าจะประกาศอย่างชัดแจ้งว่าจะสนับสนุนญี่ปุ่น แต่อองซานได้เริ่มเจรจากับนายพลเมาท์แบตแทนในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลของรัฐพม่าที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสลายตัว ดร. บามอว์ลี้ภัยเข้ามาในไทย แล้วจึงเดินทางต่อไปญี่ปุ่น ต่อมาในปีเดียวกันนั้น ดร. บามอว์ถูกจับขังคุกในโตเกียวจนถึง พ.ศ. 2489