ประวัติ ของ รัฐเมืองยอง

รัฐเมืองยองเดิมเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวว้าหรือลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของแถบนี้ ต่อมามีการขยายตัวของชุมชนชาวไทลื้อเมืองเชียงรุ่ง ส่งสุนันทะราชบุตรมาสร้างเมืองยองด้วยการปราบปรามชาวลัวะแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับใคร[5][9] สรัสวดี อ๋องสกุล นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเมืองยองคงสถาปนาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[7] เจ้าสุนันทะและเชื้อสายครองเมืองยองได้ห้ารัชกาลก็สูญวงศ์ หาผู้สืบราชบัลลังก์มิได้ เพราะเชื้อสายเจ้าผู้ครองมีศรัทธาพระศาสนาออกผนวชเสียหมด ด้วยเหตุนี้จึงต้องตั้งขุนนางช่วยกันดูแลบ้านเมืองกันเอง เมืองยองว่างกษัตริย์นาน 65 ถึง 67 ปี[7]

พญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาทรงกระทำสงครามปราบปรามเมืองยองสำเร็จ เพราะต้องการให้เมืองยองเป็นเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันการโจมตีจากรัฐเชียงตุง เชียงรุ่ง และเมืองแลม เมืองยองยอมอ่อนน้อมต่อล้านนาในฐานะลูกเมือง ให้ทำนุบำรุงพระธาตุหลวงจอมยอง รวมทั้งมีการส่งช่างฟ้อนลงมาบูชากษัตริย์ล้านนา[10] ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชทรงยึดเมืองยองอีกครั้ง ทรงตั้งขุนนางปกครองกันเอง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และกัลปนาผู้คนจากบ้านกอมเป็นข้าพระธาตุจอมยอง แล้วให้ช่างฟ้อนลงมาฟ้อนคารวะกษัตริย์ล้านนาปีละครั้ง[7]

หลังพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา หลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย รัฐเมืองยองก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่หากพม่าอ่อนแอ เมืองยองจะถูกรัฐอื่น ๆ แทรกแซง เช่น เชียงรุ่ง เชียงแขง และเชียงใหม่ ในช่วงสั้น ๆ[8][9]

ต่อมาเมื่อพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองไปไว้เมืองลำพูนที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2348[11] ทำให้เมืองยองแทบเป็นเมืองร้าง[12] สร้างความไม่พอใจแก่เจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง และเจ้าพุทธวงศาเจ้าเมืองยอง ทั้งสองจึงเอาใจออกหากไปเข้าฝ่ายพม่า เพราะมองว่าพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน และคิดว่าอย่างไรเสียพม่าก็ต้องขึ้นมาปราบเมืองยองอยู่แล้ว เจ้าพุทธวงศารวบรวมผู้คนได้ 150 ครัวเรือนเศษมาตั้งเมืองยองขึ้นใหม่ แล้วขอร่วมสวามิภักดิ์เข้ากับพม่ามาตั้งแต่นั้น[8][9] ที่สุดเมืองยองถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุงใน พ.ศ. 2358[13][14]

ใกล้เคียง

รัฐเมน รัฐเมืองพาน รัฐเมืองยอง รัฐเมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น รัฐเมฆาลัย รัฐเมฮิโก รัฐเมนโดซา รัฐเมริดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย