ประวัติ ของ ราชรัฐห่าเตียน

ยุคแรกเริ่ม

เดิมห่าเตียนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ม่อ จิ่ว (鄚玖) หรือ หมัก กื๋ว (Mạc Cửu) ชาวจีนกวางตุ้ง เข้าไปก่อตั้งเมืองท่าชื่อ เฟืองถั่ญ (Phương Thành) บ้างเรียก เมืองคำ (Máng-khảm, ม้างขาม) หรือ เปียม (ពាម "ปากน้ำ")[7][12] เมื่อ ค.ศ. 1671 โดยได้รับพระราชานุญาตจากกษัตริย์เขมรให้ดูแลการค้าทางทะเลแถบนั้น พร้อมกับพระราชทานตำแหน่งเป็น ออกญา (ឧកញ៉ា)[14]

ยูมิโอะ ซากูไร (桜井由躬雄) นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเสนอว่า เฟืองถั่ญนี้เป็นเมืองที่ถูกสร้างใหม่ที่ประกอบไปด้วยหมู่บ้านชาวจีนโพ้นทะเลเจ็ดหมู่รวมกัน ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบันทายมาศ ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าเมืองชาวเขมรปกครองอยู่แล้ว[15] แม้จะเป็นคนละเมือง แต่เอกสารไทยมักเรียกเมืองใหม่แห่งนี้ว่าบันทายมาศ (สำเนียงเขมร) หรือพุทไธมาศ (สำเนียงไทย) เพราะเป็นเมืองเก่าที่เคยมีความสัมพันธ์กับสยามมาก่อน[12] ที่ตั้งของเฟืองถั่ญอยู่บริเวณปากแม่น้ำใหญ่ เรือสินค้าสามารถจอดเรือหลบมรสุมได้ และสามารถเดินทางผ่านสาขาแม่น้ำเข้าไปค้าขายยังพื้นที่ตอนในแผ่นดินได้[14]

ในเวลาต่อมาม่อ จิ่ว เริ่มสวามิภักดิ์กับขุนนางตระกูลเหงียนเมื่อ ค.ศ. 1707 หลังถูกสยามรุกรานจนเมืองเสียหาย ม่อ จิ่วรับตำแหน่งขุนนาง เหิ่ว (hầu) จากตระกูลเหงียน ตั้งแต่นั้นมาห่าเตียนก็มีสถานะเป็นรัฐกึ่งอิสระของเวียดนามมาตั้งแต่นั้น[16] พร้อมกับตั้งนามเมืองให้เสียใหม่ว่า ห่าเตียน (Hà Tiên) แปลว่า "เทพแห่งสายน้ำ"[17] แต่เขายังคงส่งส่วยเข้าราชสำนักเขมรตามเดิม[18]

ยุคทอง

หลังม่อ จิ่วถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1736 ม่อ ซื่อหลิน (莫士麟) หรือ หมัก เทียน ตื๊อ (Mạc Thiên Tứ) บุตรชาย ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองห่าเตียนสืบมา ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของห่าเตียน กองทัพเขมรของพระศรีธรรมราชาที่ 4 ยกทัพตีห่าเตียนใน ค.ศ. 1739 แต่ปรากฏว่าเขมรพ่ายห่าเตียน และไม่ยกทัพมาตีอีก ห่าเตียนจึงเป็นอิสระจากเขมรเต็มที่[3] ต่อมาพระนารายน์ราชารามาธิบดี หรือนักองตน เจ้านายเขมรขอเป็นบุตรบุญธรรมม่อ ซื่อหลิน หลังเกิดการชิงอำนาจกันในราชสำนักเขมร[7] ม่อ ซื่อหลินจึงประสานไปยังขุนนางตระกูลเหงียนให้สนับสนุนนักองตนเป็นกษัตริย์เขมรจนสำเร็จ[10] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีชาวไทยลี้ภัยไปห่าเตียนมากกว่า 30,000 คน หนึ่งในนั้นคือเจ้าจุ้ย (Chiêu Thúy, เจียว ทวี้) ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูงของกรุงศรีอยุธยา[19] พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัย พระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[20] ม่อ ซื่อหลินวางแผนตั้งเจ้านายพระองค์นี้เป็นกษัตริย์สยาม แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนากรุงธนบุรีสำเร็จเสียก่อน[21]

ม่อ ซื่อหลินวางแผนกำจัดกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสยามหลายทาง ทั้งการทูตกับจีนไม่ให้จีนยอมรับกรุงธนบุรี[22] การแย่งตัวเจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวง และให้บุตรเขยตนลอบสังหารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่แผนแตกเสียก่อน จึงถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีกองทัพเรือของห่าเตียนจนพ่ายไป[19] ความตึงเครียดระหว่างธนบุรีกับห่าเตียนทวีความรุนแรงขึ้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งค่ายที่ปากน้ำพระประแดง ท่าจีน และแม่กลองสำหรับรับศึกของทัพเรือห่าเตียน ครั้นเสด็จไปตีหัวเมืองภาคใต้ ม่อ ซื่อหลินก็ส่งทัพ 50,000 คน ตีเมืองทุ่งใหญ่และจันทบูรกวาดครัวไทยไปจำนวนมาก[7] และส่งทัพเรือ 2,000 นายที่เกณฑ์จากบันทายมาศและกรังมาตีบางกอกแต่พ่ายไป ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสร็จศึกที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ทรงยกทัพยึดเมืองจันทบูรคืนแล้วล้อมทัพของม่อ ซื่อหลินไว้สองเดือน ที่สุดม่อ ซื่อหลินก็ปราชัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทิ้งอาวุธและเรือรบไว้จำนวนมาก[23] ด้วยเหตุนี้หลังเสร็จศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีห่าเตียนเมื่อ ค.ศ. 1771[16][24] ม่อ ซื่อหลินหลบหนีออกจากเมือง ก่อนเสด็จกลับพระนครสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนำครอบครัวของม่อ ซื่อหลิน พร้อมด้วยเจ้าจุ้ยไปด้วย ภายหลังจึงประหารชีวิตเจ้าจุ้ย[25] สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งขุนพิพิธวาทีเป็นพระยาราชาเศรษฐี ว่าราชการเมืองบันทายมาศ หลังจากนั้นม่อ ซื่อหลินก็กลับมาตีเมืองคืนได้ครั้งหนึ่ง ก่อนถูกขุนพิพิธวาทีตีคืน[8][9] แต่สองปีต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกรงว่าขุนพิพิธวาทีอาจเป็นอันตรายจึงเรียกตัวกลับบางกอก[7] พร้อมญวนเข้ารีตจำนวนหนึ่ง[10] ม่อ ซื่อหลินจึงกลับมาครองห่าเตียนอีกครั้ง[8][9][21]

ช่วงเกิดการกบฏเต็ยเซิน (Tây Sơn, เอกสารไทยเรียก ญวนไกเซิน)[26] ห่าเตียนแสดงท่าทีสนับสนุนขุนนางตระกูลเหงียน ทว่า ค.ศ. 1771 ตระกูลเหงียนพ่ายแพ้แก่ฝ่ายกบฏ และถูกกบฏยึดเมืองซาดิ่ญได้เมื่อ ค.ศ. 1776 ม่อ ซื่อหลิน และโตน เทิ้ต ซวน (Tôn Thất Xuân, เอกสารไทยเรียก องเชียงซุน)[27] ปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อกลุ่มกบฏจึงลี้ภัยไปสยาม แต่ถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจับกุมและประหารเสียใน ค.ศ. 1780[28] และหลังการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อ ค.ศ. 1782 พระองค์เริ่มมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, เอกสารไทยเรียก องเชียงสือ)[29] เพื่อประโยชน์ด้านการขยายอำนาจไปแถบปากแม่น้ำโขง[30] พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้พระยาทัศดา (Thát Xỉ Đa, ท้าต สี ดา) ไปยึดห่าเตียนหรือพุทไธมาศคืนจากการยึดครองของพวกเต็ยเซิน เหงียน ฟุก อั๊ญได้ยึดเมืองคืนได้ระยะหนึ่งแต่สุดท้ายต้องละทิ้งเมืองเพราะถูกกบฏโจมตี[31] กระทั่ง ค.ศ. 1785 เหงียน ฟุก อั๊ญ พร้อมด้วยกองทัพสยาม นำโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (Chiêu Tăng, เจียว ตัง) เดินทางไปยังเมืองบันทายมาศเตรียมรบกับกบฏเต็ยเซิน ในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชส่งม่อ ซือเชิง (鄚子泩) หรือ หมัก ตื๋อ ซิญ (Mạc Tử Sinh) บุตรชายม่อ ซื่อหลินกลับไปครองห่าเตียนแล้ว และส่งทัพไปช่วยสยามในการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมู้ต (Trận Rạch Gầm – Xoài Mút) ทว่าสยามพ่ายแก่กบฏอย่างสิ้นรูป[32] เหงียน ฟุก อั๊ญ และม่อ ซือเชิง จึงหนีกลับกรุงสยาม

ใกล้เคียง

ราชรัฐห่าเตียน ราชรัฐเจิ้ง ราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา ราชรัฐแม่น้ำฮัตต์ ราชรัฐแอนติออก ราชรัฐเซอร์เบีย ราชรัฐอันส์บัค ราชรัฐมุขนายกเอาคส์บวร์ค ราชรัฐอันดอร์ราในโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ราชรัฐบัลแกเรีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชรัฐห่าเตียน http://www.gdass.gov.cn/webmanage/Resource/attache... http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2012/05/ https://trove.nla.gov.au/work/11838010?q&versionId... https://books.google.com/books?id=hFpdDwAAQBAJ&pri... https://books.google.com/books?id=k74xZYbnynwC&pri... https://www.naewna.com/lady/176353 https://www.silpa-mag.com/history/article_22953 https://www.silpa-mag.com/history/article_41081 https://choukhmer.wordpress.com/history-of-cambodi... https://suanleklek.wordpress.com/2018/06/03/hatien...