ประวัติศาสตร์ ของ ราชอาณาจักรเลออน

หลังการพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียของกองกำลังอาหรับในปี ค.ศ. 711 ศูนย์กลางการต่อต้านได้ถือกำเนิดขึ้นในแคว้นกันตาเบรียโดยขุนนางวิซิกอธนามว่าเป-ลาโย จากที่หลบภัยในเทือกเขาเอาเซบา เป-ลาโยได้นำกองทัพเข้าโจมตีกองทหารอาหรับ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านของชาวคริสต์ ทว่าผู้ที่พยายามสร้างอาณาเขตและก่อตั้งการปกครองระบอบกษัตริย์ซึ่งขยายตัวจนเกิดเป็นราชอาณาจักรอัสตูเรียสขึ้นในบริเวณเทือกเขากันตาเบรียคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 ผู้เป็นบุตรเขยของเป-ลาโย ในยุคของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 ได้มีการสถาปนาโอบิเอโดขึ้นเป็นเมืองหลวงและได้มีการค้นพบพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 856 พระเจ้าออร์ดอญโญที่ 1 ได้มีการตั้งรกรากใหม่และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เลออนและออสโตร์กา ขณะที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ได้ขยายอาณาเขตไปไกลถึงแม่น้ำดูเอโรและย้ายไปตั้งรกรากใหม่ที่ซาโมรา พระองค์ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์อัสตูร์

ราชอาณาจักรใหม่เลออน (สีส้ม) ในปี ค.ศ. 910

รัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 910 เมื่อพระองค์ถูกปลดออกจากบัลลังก์โดยการ์ซีอา ผู้เป็นพระราชโอรส แม้จะยังคงถูกชาวมัวร์รุกรานอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ชาวคริสต์ในตอนนี้แข็งแกร่งพอที่จะย้ายออกมาจากฐานที่มั่นในเทือกเขา พระเจ้าการ์ซีอาที่ 1 จึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงมาอยู่ใกล้ชายแดนมากขึ้น ทรงก่อตั้งราชสำนักขึ้นมาบนพื้นที่ของอดีตค่ายถาวรเลจิโอที่ 7 เจมินาของชาวโรมัน ซึ่งตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงโอบิเอโด ไม่นานอิทธิพลของราชสำนักก็แผ่ขยายจนกำเนิดเป็นราชอาณาจักรใหม่นามว่าราชอาณาจักรเลออนซึ่งขึ้นมาแทนที่ราชอาณาจักรอัสตูเรียส


พระเจ้าการ์ซีอาได้พิชิตดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำดูเอโรและตั้งรกรากใหม่ขึ้นในเมืองกอร์มัซ, เบร์ลังกาเดดูเอโร และซานเอสเตบันเดกอร์มัซ หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 พระอนุชาซึ่งเป็นผู้นำในการสู้รบที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับชาวมุสลิม หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเจ้าออร์ดอญโญที่ 2 คือพระเจ้าฟรูเอลาที่ 2 ซึ่งครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปีก็สิ้นพระชนม์ ทิ้งให้ราชอาณาจักรตกอยู่ในไฟสงครามระหว่างพระโอรสของพระองค์กับพระโอรสของพระเจ้าออร์ดอญโญ


ในปี ค.ศ. 931 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ขึ้นครองบัลลังก์และกลายเป็นผู้ปกครองที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของราชอาณาจักรเลออน ด้วยความนิยมสงครามพระเจ้ารามิโรที่ 2 ได้ตอบรับคำร้องขอความช่วยเหลือของเฟร์นัน กอนซาเลซ เคานต์แห่งกัสติยา และประสบความสำเร็จในการดับไฟสงครามในพรมแดนตะวันออกตามแนวแม่น้ำดูเอโร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 นี้ ราชอาณาจักรเลออนถูกรุกรานหลายครั้งจากอับดุรเราะห์มานที่ 3 เคาะลีฟะห์แห่งอันดาลูเซียผู้ทรงอำนาจ และอัลมานซอร์ ขุนนางมุสลิมซึ่งมีอำนาจพอๆ กัน แต่แม้การรุกรานเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความกลัว ทว่าชาวมัวร์กลับไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้น เมื่ออับดุรเราะห์มันที่ 3 โจมตีกัสติยาในปี ค.ศ. 934 เข้าทำลายเมืองบูร์โกสกับการปกครองระบอบกษัตริย์ของการ์เดญญาจนราบคาบ พระเจ้ารามิโรได้กลับเข้าสู่สงครามอีกครั้งและปราบกองกำลังอาหรับได้ เอมีร์แห่งซาราโกซาได้ยอมจำนนต่อพระองค์ ในปี ค.ศ. 939 กองทัพร่วมเลออนและนาวาร์ปราบกองทัพของอับดุรเราะห์มานได้ที่ซีมันกัส ในปี ค.ศ. 942 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ได้ตั้งรกรากใหม่ขึ้นมาในซาลามังกา, เซเลสมา, ริเบรา, อาบาเดงกา และพื้นที่สำคัญอื่นๆ ตามแนวแม่น้ำโตร์เมส ในส่วนของการเมืองภายใน พระองค์ได้ปราบกบฏเคาน์ตีกัสติยา


การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ารามิโรที่ 3 เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความวุ่นวายครั้งใหม่ อันนำไปสู่การสลายตัวของราชอาณาจักร ความวุ่นวายภายใน, สงครามกลางเมือง, การโจมตีของชาวนอร์มัน, การกัดกร่อนของอัลมันซอร์ และการยุยงจากพระมหากษัตริย์นาวาร์ล้วนกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งบ่อนทำลายราชอาณาจักรเลออน

คาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 1030 ประกอบด้วยราชอาณาจักรคริสเตียนสองแห่ง คือ ราชอาณาจักรเลออน (กรอบสีส้ม) และราชอาณาจักรปัมโปลนาหรือนาวาร์ (กรอบสีเหลือง)

สันติสุขค่อยๆ กลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรอีกครั้งในการขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 และการถึงแก่กรรมของอัลมันซอร์ในปี ค.ศ. 1002 ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 ได้มีการออกกฎหมายแห่งเลออนในปี ค.ศ. 1017 ซึ่งเป็นกฎระเบียบในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเลออน พระเจ้าเบร์มูโดที่ 3 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ประกาศตัวต่อต้านความต้องการที่จะขยายอาณาเขของกษัตริย์นาวาร์ซึ่งกำลังอยู่บนจุดสูงสุดทางอำนาจ เป็นผลให้สูญเสียเคาน์ตีกัสติยาและทำให้กษัตริย์สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิตามาโรนในปี ค.ศ.1037 ระหว่างกำลังพยายามกอบกู้อาณาเขตดังกล่าวกลับคืนมา การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเบร์มูโดเป็นจุดจบของราชวงศ์อัสตูร์ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน, การก่อกบฏ, การแย่งชิงอำนาจ และการครองความเป็นใหญ่เหนือรัฐคริสเตียนอื่นๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย

แผนที่คาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 1210

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งราชวงศ์นาวาร์และพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์พยายามสร้างความมั่นคงทางอาณาเขตให้แก่ราชอาณาจักร ชายแดนถูกขยายจากแม่น้ำดูเอโรไปยังแม่น้ำตาโฆเมื่อโตเลโด หนึ่งในเมืองป้อมปราการของชาวมุสลิมแตกในปี ค.ศ. 1085 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 พระราชนัดดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้ประกาศตนเป็นจักรพรรดิแห่งดินแดนสเปนทั้งหมด โดยมีกลุ่มอาร์ชบิชอป, กลุ่มขุนนาง, เคานต์แห่งบาร์เซโลนา, เคานต์แห่งโตโลซา, เคานต์แห่งกัสกอญ รวมถึงเคานต์และคาธาร์คนอื่นๆ เข้าร่วมพิธีราชาภิเษก การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ในปี ค.ศ. 1157 เป็นจุดจบของการอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งจักรพรรดิและอาณาเขตได้ถูกแบ่งออกเป็นราชอาณาจักรเลออนและราชอาณาจักรกัสติยาอีกครั้ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1230 เลออนและกัสติยาได้กลับมารวมกันอีกครั้งเมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้สืบทอดบัลลังก์เลออนต่อจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนผู้เป็นพระราชบิดา และบัลลังก์กัสติยาต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเบเรงเกลาแห่งกัสติยาผู้เป็นพระราชมารดา อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชบัลลังก์กัสติยา

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา