ประวัติ ของ รูด็อล์ฟ_ดีเซิล

รูด็อล์ฟ ดีเซิล เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1858 ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส พ่อแม่ของเขาย้ายมาจากเยอรมนี เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะจึงได้รับการศึกษาที่ดี เขาได้เข้ามาศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และในระดับอุดมศึกษาเขาได้ศักษาต่อที่โรงเรียนอาชีวศึกษาที่เมืองเอาคส์บวร์ค และราชวิทยาลัยเทคนิคบาวาเรียแห่งมิวนิก สาขาวิศวกรรมศาสตร์[1]

หลังจากจบการศึกษาจากราชวิทยาลัยเทคนิคบาวาเรียแห่งมิวนิก ดีเซิลได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงปารีส และได้เข้าทำงานในโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งของศาสตราจารย์คาร์ล ฟ็อน ลินเดอ ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาเองที่วิทยาลัย การทำงานในโรงงานแห่งนี้ ดีเซิลต้องทำงานในหลายตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ตัวแทนซื้อขาย คนคุมงาน ประดิษฐ์ซ่อมเครื่องกล ผู้อำนวยการและที่ปรึกษา ต่อมาเมื่อลินเดอเปิดโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งขึ้นในเมืองมิวนิก ดีเซิลได้ขอลินเดอย้ายไปทำงานที่นั่น

ในระหว่างนี้เอง ดีเซิลได้ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักร และสามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซแอมโมเนียแทนการใช้พลังงานไอน้ำได้ และเครื่องยนต์ที่อาศัยหลักการสันดาป แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คือ เครื่องยนต์แบบใช้อากาศอัด แต่เครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่ดีเซิลได้ประดิษฐ์ขึ้นก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่ผนังกระบอกสูบไม่แข็งแรงพอที่จะต่อความดันอากาศสูง ๆ ได้ ดังนั้นเขาจึงหันมาปรับปรุงการประดิษฐ์กระบอกสูบ เครื่องยนต์ของดีเซิลประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1897 โดยเขาได้ใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 5 ปี ดีเซิลได้ตั้งชื่อเครื่องยนต์ตามชื่อของเขาว่า "ดีเซิล" (ดีเซล) ตามคำแนะนำของภรรยา

สิทธิบัตรเครื่องยนต์ดีเซล

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดีเซิลได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลออกจำหน่าย โดยตั้งชื่อบริษัทแห่งนี้ว่า ไรซิงเกอร์ไมเยอร์ และรูด็อล์ฟ ดีเซิล บริษัทของเขาได้ดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง แต่ในไม่ช้าดีเซิลก็ต้องพบกับความเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร ยังมีความละหลวมอยู่มาก ทำให้ดีเซิลต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากในการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องในสิทธิบัตรเครื่องยนต์ของเขา อีกทั้งสุขภาพของเขายังเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เพราะความเหน็ดเหนื่อยทั้งทางกายและทางใจจากการต่อสู้ในเรื่องสิทธิบัตร และต่อมาบริษัทของเขาก็ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของดีเซิล เขาท้อแท้ใจอย่างมากเพราะสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า ดังนั้นในปี ค.ศ. 1913 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษและไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย ซึ่งภายหลังมีข่าวว่าเขาได้หายไปในช่องแคบอังกฤษ แม้ว่าดีเซิลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้สร้างคุณประโยชน์ให้กับนักประดิษฐ์รุ่นหลังเป็นอย่างมากก็คือ เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน[2]

ใกล้เคียง

รูด็อล์ฟ ดีเซิล รูด็อล์ฟ คริสท็อฟ อ็อยเคิน รูด็อล์ฟ เฮ็ส รูด็อล์ฟ เฮิส รูด็อล์ฟ ลิพเพิร์ท รูด็อล์ฟ เช็งเคอร์ รูด็อล์ฟ มิงค็อฟสกี รูด็อล์ฟ เล็นทซ์ รูด็อล์ฟ ชไตเนอร์ รูด็อล์ฟ เคลาซีอุส