ศาลสูงสุด ของ รูธ_เบเดอร์_กินส์เบิร์ก

การเสนอชื่อและการออกเสียงยืนยัน

กินส์เบิร์กรับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536

ประธานาธิบดีบิล คลินตันเสนอชื่อกินส์เบิร์กเป็นตุลาการสมทบในศาลสูงสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536 เพื่อแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลงของผู้พิพากษาไบรอน ไวท์ที่เกษียณอายุไป โดยแจเน็ต เรโน อัยการสูงสุดสหรัฐในขณะนั้นเป็นผู้แนะนำกินส์เบิร์กให้กับประธานาธิบดีคลินตัน[12] โดยคำแนะนำของวุฒิสมาชิกพรรครีพรับริกันรัฐยูทาร์ ออร์ริน แฺฮช[13] ในขณะที่มีการเสนอชื่อดังกล่าว กินส์เบิร์กถือว่าเป็นผู้มีลักษณะธรรมดา แต่ประธานาธิบดีคลินตันมุ่งเน้นที่จะทำให้ศาลสูงสุดมีองค์คณะที่มีความหลากหลาย ซึ่งกินส์เบิร์กทำให้เกิดความหลากหลายโดยเป็นผู้พิพากษายิวคนแรกตั้งแต่ปี 2512 หลังจากการลาออกของผู้พิพากษาอาเบ ฟอร์ทาส ผู้พิพากษายิวที่เป็นสตรีรายแรก และผู้พิพากษาที่เป็นสตรีรายที่สองของศาลสูงสุด[10][14][15] กินส์เบิร์กกลายเป็นผู้พิพากษายิวที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดที่เคยมีมา[16] และคณะทำงานด้านนิติกระบวนของรัฐบาลกลางประจำเนติบัณฑิตสหรัฐยังได้ให้ความเห็นว่ากินส์เบิร์ก "มีคุณสมบัติอย่างยิ่ง" ซึ่งเป็นระดับคุณสมบัติสูงสุดที่ให้ได้กับผู้ที่จะกลายเป็นผู้พิพากษาในอนาคตต่อไป[17]

ในระหว่างการไต่สวนต่อหน้าคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิกด้านนิติศาสตร์เพื่อประกอบการออกเสียงยืนยันของวุฒิสภา กินส์เบิรก์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามบางประการเกี่ยวกับประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น โทษประหารในสหรัฐ โดยเห็นว่าประเด็นดังกล่าวอาจเป็นประเด็นที่ตนต้องออกเสียงหากมีประเด็นดังกล่าวขึ้นมายังศาลสูงสุด[18]

ประธานศาลสูงสุด วิลเลียม เรห์นควิสต์ สาบานกินส์เบิร์กเข้ารับตำแหน่งตุลาการสมทบในศาลสูงสุด โดยมีมาร์ติน กินส์เบิร์กผู้เป็นสามี และประธานาธิบดีคลินตันมองอยู่

ในขณะเดียวกัน กินส์เบิร์กได้ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่น่าจะเป็นข้อถกเถียงบางประการ เป็นต้นว่า กินส์เบิร์กยืนยันความเชื่อของตนเรื่องสิทธิส่วนบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังได้อภิปรายหลักการนิติปรัชญาส่วนตัวและความเห็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศอีกด้วย[19]:15–16 กินส์เบิร์กยังพร้อมที่จะหารือประเด็นต่าง ๆ ที่ตนได้เคยเขียนไว้แล้วอย่างเปิดเผยด้วย[18] วุฒิสภาสหรัฐออกเสียงยืนยันกินส์เบิร์กด้วยเสียง 96 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2536 [lower-alpha 1][5] กินส์เบิร์กได้รับการตอบรับเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2536[5] และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2536[21]

ชื่อกินส์เบิร์กได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในการออกเสียงยืนยันผู้พิพากษาจอห์น รอเบิตส์ แม้ว่ากินส์เบิร์กเองจะไม่ใช่ผู้ได้รับการเสนอชื่อรายแรกที่ไม่ตอบคำถามบางข้อในการไต่สวนต่อหน้าสภาคองเกรสก็ตาม[lower-alpha 2] ในปี 2524 ในขณะที่รอเบิตส์ยังเป็นทนายความที่มีประสบการณ์ไม่มาก รอเบิตส์ได้แนะนำว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการไม่ควรตอบคำถามใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเฉพาะทั้งสิ้น [22] อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์หัวอนุรักษ์นิยมและวุฒิสมาชิกก็ได้ใช้ถ้อยคำว่า "วิธีแบบกินส์เบิร์ก" เพื่อแก้ต่างข้อโต้แย้งดังกล่าว[17][22] ในสุนทรพจน์ที่กินส์เบิร์กกล่าวที่มหาวิทยาลัยเวคฟอเรสต์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 กินส์เบิร์กกล่าวว่าการที่รอเบิตส์ปฏิเสธไม่ตอบคำถามบางคำถามในการไต่สวนต่อหน้าวุฒิสภานั้นเป็นเรื่องที่ "ถูกต้องโดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ"[23]

หลักกฎหมายในศาลสูงสุด

กินส์เบิร์กวิเคราะห์การปฏิบัติหน้าที่ของตนดังกล่าวว่าเป็นการใช้ความระมัดระวังในการวินิจฉัยคดี[24] และได้กล่าวในถ้อยแถลงก่อนได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลสูงสุดว่า "คำขอต่าง ๆ ที่ได้พิจารณาแล้วโดยหลักการถือว่ามีความถูกต้องทั้งในเชิงรัฐธรรมนูญและการวินิจฉัยตามกฎหมายคอมมอนลอว์ การยืดหยุ่นของหลักการที่กระทำขึ้นโดยเร็วเกินไปนั้น ประสบการณ์ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าย่อมอาจเกิดความไม่แน่นอน" "[25] คาส ซันสเตน นักกฎหมาย ได้ชี้ว่ากินส์เบิร์กเป็นบุคคลจำพวก "มีแนวคิดไม่ซับซ้อนที่มีเหตุผล" และเป็นนักกฎหมายที่สร้างหลักการบนรากฐานเดิมอย่างระมัดระวังโดยไม่ตีความรัฐธรรมนูญไปตามความเห็นของตน [26]:10–11

ซ้ายไปขวา: ซานดรา เดย์ โอ'คอนนอร์, โซเนีย โซโตเมเยอร์, กินส์เบิร์ก และเอเลนา เคแกน (1 ตุลาคม 2553)

จากการเกษียณอายุของผู้พิพากษาซานดรา เดย์ โอ'คอนนอร์ ในปี 2549 ทำให้กินส์เบิร์กกลายเป็นสตรีเพียงคนเดียวในศาลสูงสุด [27][lower-alpha 3]ลินดา กรีนเฮาส์แห่งหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่าวาระการดำรงตำแหน่งปี 2549-2550 ของศาลเป็น "ระยะเวลาที่ผู้พิพากษารูธ แบเดอร์ กินส์เบิร์ก ได้มีปากเสียงมากที่สุดและได้ใช้ปากเสียงดังกล่าวนั้น[29] ในวาระดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการปฏิบัติหน้าที่ในศาลของกินส์เบิร์กที่กินส์เบิร์กเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยแย้งหน้าบัลลังค์หลายคราว อันเป็นวิธีการที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับผู้พิพากษาเสียงข้างมาก[29]

จากการเกษียณอายุของผู้พิพากษาจอห์น พอล สตีเวนส์ กินส์เบิร์กกลายเป็นสมาชิกที่มีอายุมากที่สุดของฝั่งที่มักเรียกว่าฝั่ง "เสรีนิยม" ของศาล[30][31][32] และเมื่อศาลมีความเห็น 5-4 ตามแนวความคิดของตนและแนวความคิดเสรีนิยมเป็นแนวความคิดเสียงข้างน้อย กินส์เบิร์กมักได้รับอำนาจในการกำหนดให้ผู้พิพากษารายใดรายหนึ่งทำความเห็นแย้งได้เนื่องจากกินส์เบิร์กเป็นผู้พิพากษาที่อายุมากที่สุด[31][lower-alpha 4] กินส์เบิร์กเป็นผู้สร้างหลักการของผู้พิพากษาเสรีนิยมเสียงข้างน้อยที่มีคำวินิจฉัย "รวมกันเสียงเดียว" และในกรณีที่จะเป็น สามารถทำคำวินิจฉัยแบบรวมข้อพิจารณาทั้งหมดที่ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยทั้งหมดเห็นพ้องร่วมกันได้ด้วย[30][31]

การทำแท้ง

กินส์เบิร์กให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการทำแท้งและความเท่าเทียมกันทางเพศในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ เมื่อปี 2552 โดยกล่าวถึงการทำแท้งว่า "หลักการพื้นฐานคือรัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับการตัดสินใจของสตรี"[34] แม้ว่ากินส์เบิร์กจะได้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งอย่างต่อเนื่อง และมีความเห็นพ้องในคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Stenberg v. Carhart 530 U.S. 914 (2000) ที่วินิจฉัยว่ากฎหมายรัฐเนแบรสกาเกี่ยวกับการทำแท้งเมื่อลูกอ่อนเสียชีวิตก่อนออกจากครรภ์มารดานั้นไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อครบรอบ 40 ปีคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Roe v. Wade 410 U.S. 113 (1973) กินส์เบิร์กวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเป็นการยุติการเคลื่อนไหวเชิงประชาธิปไตยที่เพิ่มเริ่มต้นในการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งซึ่งอาจก่อให้เกิดความเห็นพ้องที่หนักแน่นยิ่งขึ้นในการสนับสนุนให้มีสิทธิในการทำแท้งต่อไป[35] ในคดี Gonzales v. Carhart, 550 U.S. 124 (2007) กินส์เบิร์กเป็นผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคำวินิจฉัย 5-4 ที่ยืนหลักข้อจำกัดในการทำแท้งเมื่อลูกอ่อนเสียชีวิตก่อนออกจากครรภ์มารดา ในความเห็นแย้งดังกล่าว กินส์เบิร์กปฏิเสธคำวินิจฉัยเสียงข้างมากที่กลับไปใช้ข้อวินิจฉัยทางนิติบัญญัติว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง โดยกินส์เบิร์กมุ่งวิจารณ์กระบวนการที่ทำให้สภาคองเกรสได้ข้อสรุป และความถูกต้องของข้อสรุปดังกล่าว[36] กินส์เบิร์กยังมีความเห็นพ้องกับคำพิพากษาในคดี Whole Woman's Health v. Hellerstedt, 579 U.S. 15-274 (2016) ซี่งยกเลิกกฎหมายของรัฐเท็กซัสในปี 2556 บางส่วนเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องผู้ให้บริการทำแท้ง โดยกินส์เบิร์กมีความเห็นส่วนตนสั้น ๆ วิจารณ์กฎหมายที่กำลังเป็นประเด็นดังกล่าวยิ่งขึ้นไปอีก [37] กินส์เบิร์กอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิงอย่างที่รัฐเท็กซัสอ้าง แต่กลับเป็นการจำกัดไม่ให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้[36][37]

การเลือกปฏิบัติทางเพศ

ในคดี United States v. Virginia, 518 U.S. 515 (1996) กินส์เบิร์กเป็นผู้ทำความเห็นของศาลที่วินิจฉัยว่านโยบายของสถาบันทหารเวอร์จิเนียซึ่งรับแต่เฉพาะเพศชาย เป็นการกระทำอันขัดข้อถ้อยคำว่าด้วยการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 14 สถาบันทหารดังกล่าวเป็นสถาบันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการทหาร ดำเนินงานโดยรัฐบาล และเป็นสถาบันอันทรงเกียรติซึ่งมีนโยบายไม่รับผู้เข้าศึกษาเพศหญิง กินส์เบิร์กเห็นว่าตัวการระดับรัฐเช่นสถาบันทหารดังกล่าวจะใช้เพศมาเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้เพศหญิงเข้าศึกษาในสถาบันทหารซึ่งมีกระบวนการศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ได้[38] กินส์เบิร์กเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึง "เหตุผลที่ฟังขึ้นได้เป็นอย่างยิ่ง" ในการใช้เพศเป็นเครื่องมือทำนองดังกล่าว [39]

ภาพวาดของกินส์เบิร์กในปี 2543 ในระหว่างดำรงตำแหน่งตุลาการศาลสูงสุด

กินส์เบิร์กมีความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Ledbetter v. Goodyear, 550 U.S. 618 (2007) ซึ่งเป็นคดีที่ลิลลี่ เลดเบตเตอร์ ผู้เป็นโจทก์ ฟ้องคดีต่อนายจ้างโดยอ้างว่ามีการจ่ายค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันด้วยเหตุทางเพศ โดยอาศัยกฎหมายในลักษณะ 7 ของรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมืองปี 2507 โดยในคำวินิจฉัยด้วยเสียง 5-4 องค์คณะเสียงข้างมากตีความว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้มีการจ่ายค่าจ้างทุกคราวไป แม้ว่าผู้หญิงจะไม่ทราบว่าตนได้รับการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ชายจนกระทั่งเวลาผ่านไปบ้างแล้วก็ตาม กินส์เบิร์กเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่สมเหตุผล โดยอ้างว่าปกติผู้หญิงมักไม่ทราบว่าตนได้รับค่าจ้างต่ำกว่า และย่อมไม่เป็นการยุติธรรมที่จะให้ผู้หญิงโต้แย้งใด ๆ เมื่อได้มีการจ่ายค่าจ้าง กินส์เบิร์กยังชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงอาจไม่กล้าดำเนินการใด ๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมโดยฟ้องคดีเรียกเงินจำนวนเล็กน้อยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เพศชายเป็นใหญ่ แต่กลับรอให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ [40] ในความเห็นแย้งดังกล่าว กินส์เบิร์กเรียกร้องให้สภาคองเกรสแก้ไขถ้อยคำในลักษณะ 7 เพื่อให้กฎหมายมีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาศาลต่อไป[41] เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2551 ได้มีการออกรัฐบัญญัติค่าจ้างเท่าเทียม ลิลลี่ เลดเบตเตอร์เป็นกฎหมาย ทำให้ลูกจ้างสามารถชนะคดีการจ่ายค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันได้ง่ายขึ้น[42][43] กินส์เบิร์กได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้จุดประกายให้มีกฎหมายดังกล่าวขึ้น[41][43]

การตรวจค้นและการยึดทรัพย์

แม้ว่ากินส์เบิร์กจะไม่ได้เป็นผู้ทำคำวินิจฉัยเสียงข้างมากในคดี Safford Unified School District v. Redding, 557 U.S. 364 (2009) แต่กินส์เบิร์กก็ได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอิทธิพลต่อผู้พิพากษารายอื่น ๆ ในคดีดังกล่าว [44] โดยศาลวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า การที่โรงเรียนสั่งให้นักเรียนหญิงอายุ 13 ปีถอดบราและการเกงในเพื่อให้เจ้าหน้าที่หญิงตรวจค้นยาเสพติดเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ[44] ในคำให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่ก่อนศาลมีคำพิพากษา กินส์เบิร์กให้ความเห็นว่าองค์คณะตุลาการบางรายไม่ได้ตระหนักถึงการเปลื้องเครื่องแต่งกายเพื่อตรวจค้นเด็กหญิงอายุ 13 ปีอย่างเต็มที่ โดยกินส์เบิร์กกล่าวว่า "องค์คณะดังกล่าวไม่เคยอยู่ในฐานะของเด็กหญิงอายุ 13 ปีเลย"[45] ในคำพิพากษาเสียง 8-1 ในคดีดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่าการค้นตัวของโรงเรียนเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 และอนุญาตให้นักเรียนดำเนินการฟ้องคดีต่อโรงเรียนได้ โดยผู้พิพากษากินส์เบิร์กและผู้พิพากษาสตีเวนส์ยังได้อนุญาตให้นักเรียนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่โรงเรียนเป็นรายบุคคลได้อีกด้วย[44]

ในคดี Herring v. United States, 555 U.S. 135 (2009) กินส์เบิร์กแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในการปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับหลักฐานในการพิจารณาคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อัพเดทระบบคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ผู้พิพากษารอเบิตส์เน้นย้ำว่าการไม่ยอมรับหลักฐานเป็นไปเพื่อป้องปรามการกระทำโดยมิชอบของตำรวจ กินส์เบิร์กกลับมีความเห็นอย่างรุนแรงในการไม่ยอมรับหลักฐานดังกล่าวเพื่อเยียวยาการละเมิดสิทธิจำเลยตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 กินส์เบิร์กเห็นว่าการไม่ยอมรับหลักฐานเป็นกระบวนการที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลหาประโยชน์จากความผิดพลาด และมีลักษณะเป็นการเยียวยาเพื่อปกป้องบูรณภาพในทางตุลาการและการเคารพต่อสิทธิพลเมือง[46]:308 กินส์เบิร์กยังไม่ยอมรับข้ออ้างของผู้พิพากษารอเบิตส์ว่าการไม่ยอมรับหลักฐานย่อมไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิดพลาดได้ โดยกล่าวว่าการให้ตำรวจต้องรับผิดชอบอย่างสูงต่อความผิดพลาดของตนย่อมจะทำให้ตำรวจใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น[46]:309

กฎหมายระหว่างประเทศ

ในความเห็นทางกฎหมายต่าง ๆ กินส์เบิร์กยังได้เรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายและหลักการระหว่างประเทศเพื่อทำให้กฎหมายสหรัฐสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมุมมองที่ตุลาการร่วมคณะหัวอนุรักษ์บางรายไม่เห็นพ้องด้วย กินส์เบิร์กสนับสนุนการอาศัยการตีความกฎหมายของต่างประเทศเพื่อให้เกิดเหตุผลจูงใจและปัญญามากขึ้น แต่ไม่ใช่ในฐานะเป็นหลักการเดิมที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตาม[47] กินส์เบิร์กเห็นว่าการอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศเป็นธรรมเนียมที่ฝังรากมาอย่างยาวนานในกฎหมายสหรัฐ และยกให้จอห์น เฮนรี วิกมอร์และประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ เป็นบุคคลจำพวกต่างประเทศนิยม[48] การอาศัยหลักกฎหมายระหว่างประเทศของกินส์เบิร์กมีมาตั้งแต่สมัยที่กินส์เบิร์กเป็นทนายความ โดยในคดี Reed v. Reed, 404 U.S. 71 (1971) ซึ่งกินส์เบิร์กได้ว่าความในศาบเป็นครั้งแรก กินส์เบิร์กอ้างถึงคดีในกฎหมายเยอรมันสองคดี[49] และในความเห็นส่วนตนในคำวินิจฉัยคดี Grutter v. Bollinger, 539 U.S. 306 (2003) ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่วินิจฉัยยืนหลักการให้สิทธิกับบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติมาก่อนในการรับเข้าศึกษาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน กินส์เบิร์กเห็นว่ามีความเห็นที่ชี้ให้เห็นว่านโยบายรับเข้าที่อาศัยการให้สิทธิกับผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติมาก่อนย่อมจะต้องมีจุดสิ้นสุด และเห็นพ้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีขึ้นเพื่อกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและทางเพศ[48]

แหล่งที่มา

WikiPedia: รูธ_เบเดอร์_กินส์เบิร์ก http://www.abajournal.com/news/article/ginsburg_ex... http://www.boston.com/news/nation/washington/artic... http://www.cnn.com/2015/02/12/politics/ruth-bader-... http://abcnews.go.com/Politics/Supreme_Court/white... http://abcnews.go.com/Politics/ginsburg-court-woma... http://articles.latimes.com/1993-06-15/news/mn-323... http://articles.latimes.com/1993-08-04/news/mn-203... http://articles.latimes.com/2014/mar/15/opinion/la... http://bench.nationalreview.com/post/?q=YWRmZjliMW... http://www.newyorker.com/news/amy-davidson/ruth-ba...