ตัวอย่างผลงาน ของ ฤกษ์ฤทธิ์_ตีระวนิช

Untitled 1990 (Pad Thai)

ไฟล์:Untitled 1990 (Pad Thai).jpgUntitled 1990 (Pad Thai), NY.jpg

ผลงานในช่วงต้นๆ ของฤกษ์ฤทธิ์ค่อนข้างจะมีลักษณะของงานประติมากรรมในแบบ “Objective” มากกว่าจะเป็นแนวทางของ Conceptual Art เหมือนเช่นผลงานถัดๆ มา และได้เคยสร้างผลงานในแนว Conceptual Art ชุดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารนำเสนอต่อผู้คนมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จจนสร้างให้เกิดความฮือฮาขึ้นมา จวบจนเมื่อฤกษ์ฤทธิ์ได้เลือกหยิบเอาส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในชีวิตปะจำวันรวมถึงความทรงจำเก่าก่อนของตัวเองมาผสมผสานร่วมกัน แล้วนำเสนอในรูปของผลผลิตทางศิลปะ โดยผลงานชุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับฤกษ์ฤทธิ์จนเกิดการยอมรับในวงกว้าง กระทั่งเป็นที่รู้จักของชุมชนศิลปะในตะวันตกและอเมริกายุคปัจจุบัน จนกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่โดดเด่นนั้น คือผลงานแนว Conceptual Art ชุด “ผัดไทย” ในปี 2533 เป็นการนำเอาลักษณะเฉพาะบางอย่างของไทยไปนำเสนอ เขาลงมือปรุงผัดไทยเองในแกลเลอรี่ศิลปะที่นิวยอร์ก ซึ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางศิลปะให้เป็นครัวและโรงอาหาร เพื่อทำอาหารจัดเลี้ยงแขกผู้มาร่วมงานที่จะไม่ได้เห็นศิลปะวัตถุใดๆ นอกจากได้ร่วมกินผัดไทย พูดคุย และพบปะสังสรรค์กับศิลปินและแขกคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน

โดยลักษณะเด่นของผลงานฤกษ์ฤทธิ์คือ เป็นนิทรรศการเชิงความคิด ที่สร้างขึ้นมาสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดู งานที่เป็นเชิงแนวคิดของเขา จึงถือเป็นการขบถในแง่ของของการฉีกกฎ ความเป็นธรรมเนียม และวิถีปฏิบัติในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกกรอบแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์แบบเดิมๆ ที่ปล่อยให้ผู้ชมงานศิลปะเลือกเสพสุนทรียะ ได้จากการเป็นผู้ดูและชมเท่านั้น โดย “ผัดไทย”เป็นงานศิลปะที่นอกจากจะดูด้วยตา รับฟังด้วยหู สูดดมด้วยจมูก สัมผัสจับต้องด้วยกายสัมผัสแล้ว งานศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์นั้นยังสามารถนำมาบริโภคเสพกลืนเคี้ยวกินลงท้องได้อีก[3]

Untitled 1992 (Free), 303 Gallery

ไฟล์:Untitled 1992 (Free).jpgUntitled 1992 (Free)

ในปี ค.ศ.1992 ฤกษ์ฤทธิ์ได้เปลี่ยนแกลเลอรี่ที่นิวยอร์กให้กลายเป็นห้องอาหารสำหรับกินอาหารไทย เช่น แกงกระหรี่ ฟรีทุกวันระหว่างที่กำลังแสดงงาน เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรม อุปนิสัยมีน้ำใจไมตรี ต้อนรับขับสู้ของคนไทย ผลงานของเขาเป็นหนึ่งในภาพฉากงานศิลปะของนิวยอกร์กช่วงต้นทศวรรษที่ 90 แสดงให้เห็นการฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งของ Activity-Based Art เขาเป็นสมาชิกของ Godzilla กลุ่มศิลปินชาว Asian-America ห้องแสดงผลงานที่จัดแต่งใหม่ของฤกษ์ฤทธิ์ได้ลบล้างมิติเก่าๆ ของขอบเขตที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะ โดยที่ห้องทำงานโล่งทางด้านหลังของแกลลอรี่ได้ถูกจัดทำให้เป็นที่สำหรับชุมชน โดยการจัดให้ห้องเก็บอุปกรณ์ทางด้านหลังเป็นที่ว่าง เผยให้เห็นถึงองค์ประกอบของแกลลอรี่ ลดความยุ่งยากขององค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นด้วยลักษณะที่แตกต่างไปจากหน้าร้านธรรมดาทั่วไป ที่นี่ทำเป็นในรูปแบบของ "Free-For-All" หรือสินค้าจำเป็นเกี่ยวกับ Potlatch ซึ่งการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากระบบทุนนิยม โดยการแลกเปลี่ยนของขวัญและการอยู่ร่วมกันของชุมชน ผ่านบรรยากาศความเป็นกันเองที่สลัดหลุดจากความเป็นเจ้าของสถานที่ที่โดดเดี่ยวในชุมชนส่วนตัวและงานศิลปะแต่เพียงผู้เดียว

ฤกษ์ฤทธิ์ถือเป็นศิลปินไทยในยุคปัจจุบันที่กำลังนำเอาวัฒนธรรมไทยออกเผยแพร่สู่สายตาชาวตะวันตกตามแนวทางศิลปะในช่วง 1990 ผู้ดูอาจจะได้สัมผัสกับผลงานทางศิลปะที่มากกว่าสีสันและเรื่องราว แต่เป็นการดึงเอาผู้ชมเข้าร่วมรับรู้รสชาติและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานของเขา แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว เพียงแต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการนำเสนอที่ตรงจุด ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่สนใจของวงการศิลปะทั้งในยุโรปและอเมริกา[4]

Untitled (Twelve seventy-one)

ปี ค.ศ.1993 ได้รับเลือกเข้าแสดงในนิทรรศการ Aperto งานเวนิส เบียนนาเล (Venice Biennale) ครั้งที่ 45 ด้วยผลงาน “Untitled (Twelve seventy one)” โดยปรุงก๋วยเตี๋ยวเรือในเรือสเตนเลส หยอกล้อไปกับประวัติศาสตร์อิตาลี จีน และไทย สมัยที่มาร์โคโปโลซึ่งเป็นชาวเวนิสเดินทางไปประเทศจีนในปี ค.ศ. 1271 และนำเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวกลับมาพัฒนาเป็นเส้นมักกะโรนีและสปาเก็ตตี้ในอิตาลี ขณะที่ไทยก็รับเอาวัฒนธรรมการกินก๋วยเตี๋ยวจากจีนมาดัดแปลงให้เป็นรสชาติแบบไทยๆ และขายกันในเรือ อันเป็นเรื่องราวที่โยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างเมืองไทยและเวนิส ที่ต่างก็มีบ้านเมืองบนสองฝั่งคลองและมีผู้คนที่นิยมสัญจรไปมา

The Land, Chiang Mai, Thailand 1998

ในช่วงเดือนธันวาคมปี 1998-2000 ฤกษ์ฤทธิ์ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนพ่อแม่ที่บ้านเกิดของเขา พร้อมกันนั้นเขาก็ได้จัดแสดงผลงานขึ้นหลายชุด ควบคู่ไปกับการจัดอภิปราย จัดบรรยาย พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะอีกหลายวาระในหลายสถานที่ ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ผลงานแถบเทปวิดีโอที่ติดตั้งในรถแท็กซี่เขียวเหลืองออกวิ่งตระเวนให้บริการกับผู้โดยสารทั่วกรุงเทพฯ และผลงานชุด “สัปดาห์ร่วมทุกข์ ตุ๊กๆคนเมือง” ที่ทำขึ้นในเชียงใหม่ ด้วยการจัดวางบัตรอวยพรไว้บนรถสามล้อเครื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารได้เขียนคำอวยพรสั้นๆ แล้วหยอดลงกล่องที่ติดอยู่บนรถ จากนั้นบัตรอวยพรแต่ละใบก็จะถูกจัดส่งไปยังคนที่ฤกษ์ฤทธิ์เป็นผู้กำหนดขึ้น ด้วยการเขียนระบุชื่อผู้รับเอง โดยที่ผู้เขียนคำอวยพรไม่มีโอกาสได้ทราบว่าบัตรอวยพรที่ตนเขียนไว้นั้นจะได้รับการส่งผ่านไปถึงใครเช่นเดียวกับผู้รับที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียน

ชิ้นงานเหล่านี้ ที่รวมไปถึงการทำ “ลาบ” เพื่อใช้จัดเลี้ยงแก่ผู้คนที่มาร่วมงาน “สัปดาห์ร่วมทุกข์ประจำปี พ.ศ. 2540” ที่เชียงใหม่ ล้วนเป็นอีกรูปลักษณ์แนวทางหนึ่ง สำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์หรือร่วมเสพรสศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์ในแต่ละครั้ง ได้ปะทะพบเจอกับปรากฏการณ์อันแปลกต่างไปจากกิจกรรมด้านศิลปะแห่ง พ.ศ. ปัจจุบัน[5]

The Land Foundation

The Land Foundation หรือมูลนิธิที่นา เป็นมูลนิธิทางศิลปะที่ ฤกษ์ฤทธิ์ ติระวนิช และ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ผลงานโปรเจกคู่ที่สองศิลปินร่วมสมัยก่อตั้งขึ้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศิลปินนานาชาติ และศิลปินที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ เนื้อหาของโครงการได้มีการแทรกแซงเรื่องของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรเข้ามา[6]

Film work : Lung Neaw Visits His Neighbours

ไฟล์:03ลุงนิ่ว.jpgลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน

ในปี 2011 ฤกษ์ฤทธิ์ได้สร้างผลงานภาพยนตร์ยาวเต็มตัวเรื่องแรกของ เป็นภาพยนตร์ไทยชื่อ “Lung Neaw Visits His Neighbours” หรือ "ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน" http://www.lungneawvisitsfilm.com ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี หนังสารคดีเรื่องนี้ พูดถึงลุงนิ่วชาวนาวัย 60 ปี ที่อยู่ประจำหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ห่างออกไปจากความสับสนวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ตามไปดูชีวิตประจำวันของลุงนิ่ว ผู้พบว่างานทำนาหนักเกินไปสำหรับเขาแล้วการใช้ชีวิตของเขาในดินแดนที่เขารู้จักมาตั้งแต่เกิด และเติมเต็มเวลาว่างๆ ของเขาด้วยการจับกลุ่มคุยกับเพื่อบ้าน ภาพยนตร์ต้องการสื่อเกี่ยวกับผลประโยชน์และแสดงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านที่อยู่รอบข้าง[7] ซึ่งมีความยาวแปดชั่วโมงสิบเก้านาที นำเสนอการกลับมาใช้ (motion footage) การเคลื่อนไหวของฟิล์มภาพยนตร์footage หรือที่เรียกว่าการทดลองทำหนังของ Andy Warhol ในปี1960 และในปีถัดมาภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกนำมาฉายอีกหลายครั้งในงาน DOCUMENTA (13) ที่ Kassel ประเทศเยอรมัน และ MOMA ใน New York[8]

Untitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011

ไฟล์:D4024ma 2.jpgUntitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011

การแสดงผลงาน Untitled 2011, (Who’s Afraid of…), 2011 งาน Art42Basel เป็นการนำงานสองลายเซ็นประจำตัวของเขาไปนำเสนอ การทำอาหาร “แกงมัสมั่น” ซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากแถบเปอร์เซีย ฤกษ์ฤทธิ์ปรุงอาหารและเชื้อเชิญผู้มาดูงานศิลปะร่วมทานแกงมัสมั่นของเขา ก็เพื่อหนึ่งในการสร้างสุนทรียศาสตร์ของการรับรู้ความงามของศิลปะ ศิลปินพยายามสร้างให้เกิดการรับรู้ในทุกผัสสะของมนุษย์ โดยผ่านประสบการณ์ สัมผัส, กิน, ดื่ม, ได้กลิ่น และการแวะเข้ามาชมและอยู่ในแวดล้อมในชิ้นงานศิลปะ จึงทำให้เปลี่ยนสถานะของผู้ชมจากการเป็นเพียงผู้ชม มาเป็นผู้แสดง ร่วมเสพอาหาร/ศิลปะ

ขณะที่ภาพวาดลายเส้น การชุมนุม (demonstration drawing) เป็นบริบทของการประท้วงใน อียิปต์ไปจนถึงลิเบีย ผู้ดูชมสามารถมีส่วนร่วมในการวาดภาพบนผนังได้ ที่เรียกว่า “Relational Art” คืองานศิลปะของเขาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ศิลปะ” และ “คนที่มาดูงานศิลปะ” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวงานที่ร่วมจัดแสดงอยู่ด้วยกันที่เรียก “สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” หรือ “Relational Art” ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกำลังดำเนินไปเป็นสิ่งที่สำคัญ การปฏิสัมพันธ์กัน การเสพรสชาติอาหารที่กินอยู่ เพราะอาหารก็คือการนำเสนอความเป็นไปในประจำวันและการเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการวาดภาพลายเส้นบนผนัง ซึ่งงานวาดภาพลายเส้นการชุมนุมนั้นมันเกิดขึ้นบนกระดาษ แต่ทว่างานนี้ได้ถูกนำเสนอให้วาดบนผนังกำแพงของห้องศิลปะ ซึ่งเป็นที่ศิลปินได้เคยแสดงงานในลักษณะครั้งแรกไว้ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ เมื่อสิงหาคมปี 2553 และนำมาสู่การนำเสนอโปรเจกต์ในลักษณะเดียวกันนี้ในงานแสดงศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Art42Basel และคณะกรรมการก็พิจารณารับผลงานนิทรรศการนี้ ไปแสดงในเซ็กชั่น Art Feature เป็น เว็กชั่น 1 ใน 5 ส่วนสำคัญของงาน

Art feature เป็นส่วนที่เป็นงานนำเสนอผลงานโดยผ่านการคัดสรรจากแกลเลอรี่ ซึ่งคณะกรรมการไม่เพียงแต่พิจารณาแค่ชื่อศิลปิน หรือ ความน่าสนใจของผลงานที่คัดสรรไป แต่ ยังต้องพิจารณาถึงประวัติของแกลเลอรี่นั้นๆ ด้วยเช่นกัน[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฤกษ์ฤทธิ์_ตีระวนิช http://gavinbrown.biz/home/artists/rirkrit-tiravan... http://www.crousel.com/home/artists/Rirkrit%20Tira... http://www.imdb.com/name/nm2197442/ http://www.lungneawvisitsfilm.com http://www.pilarcorrias.com/artists/rirkrit-tirava... http://www.pilarcorrias.com/artists/rirkrit-tirava... http://www.pilarcorrias.com/news/rirkrit-tiravanij... http://vipash.wordpress.com/ http://arts.columbia.edu/visual-arts/rirkrit-tirav... http://www.guggenheim.org/new-york/collections/col...