ประวัติ ของ ละครบรอดเวย์

ในยุคแรกของละครเพลงที่เกิดขึ้นนี้ได้รับอิทธิพลทางการแสดงจากประเทศทางแบบยุโรป ซึ่งมีลักษณะเป็นโอเปร่า (Operetta)คือมีรูปแบบการร้องเพลงแบบโอเปราร่วมกับการแสดง และมีโครงเรื่องที่มีลักษณะเหนือจริงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรัก มีการเต้นประกอบการแสดงที่เรียกกันว่า โรแมนติก บัลเล่ต์ (Romantic Ballet) เช่นเรื่อง The Red Mill (1906) Naughty Marietta (1910) Sweethearts (1913)

ยุคที่สอง ในยุคนี้จัดว่าเริ่มเป็นยุคของละครเวทีแบบอเมริกันโดยแท้ คือมีรูปแบบการประพันธ์ เค้าโครงเรื่อง และองค์ประกอบต่างๆ ของละครมีลักษณะเป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ชาวเมืองปกติในอเมริกา ใช้เพลงป็อป มีการนำการเต้นรำเข้ามาประกอบ มีบทพูดและมีการร้องเพลง การเต้นรำเพื่อเชื่อมต่อเรื่องราวจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง มีการเปลี่ยนฉาก มีบทชวนหัว เสียดสีล้อเลียนเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ที่เข้ากับเหตุการณ์ตอนนั้น ผู้นำการผลิตละครเพลงเวทีแบบอเมริกันในยุคนี้ได้แก่ จอร์ช แอมโคแฮน (1848-1942), เจอโรม เคิร์น (1885-1945), เออร์วิง เบอร์ลิน (1888-1985) ละครเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนี้ได้แก่ Show boat (1927),Funny Face (1927), Roberta (1933), Annie get your guns (1946)

ยุคที่สาม จะมีเนื้อหาและเรื่องราวของละครเพลงในยุคนี้เน้นการเสนอเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตจริงมากขึ้น และมีการนำเรื่องจากบทกวี วรรณคดีมาแสดงและผสมผสานเนื้อเรื่อง มีการเต้นรำมากขึ้น ละครเพลงในยุคนี้มีลักษณะเป็นละคร (Drama) มากขึ้น มีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าในยุคก่อน ผลงานเด่นในยุคนี้ได้แก่ Oklahoma! (1943), South Pacific (1949), The King and I (1951), My Fair Lady (1956), The Sound of Music (1959)Camelot (1960), Funny Girls (1964) เป็นต้น

ยุคที่สี่ เป็นยุคของรูปแบบใหม่แห่งวงการละครเพลง คือการนำเสนอเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของวีรบุรุษ ความรักความยิ่งใหญ่ตระการตาหมดไปมีการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตสังคมในแง่มุมต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็น จบลงด้วยความสุข หรือเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ อาจจะมีการใช้เพลงร็อกแอนด์โรลประกอบการแสดง เช่น Jesus Christ Superstar (1968) Grease (1972) และในยุคนี้นับเป็นการเริ่มต้นละครแบบทดลองคือมีการนำเรื่องราวที่แปลกออกไปมานำเสนอเช่นเรื่อง Cabaret (1966) และเรื่อง Evita (1970)เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายและกลายเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมเปิดแสดงติดต่อกันเป็นเวลานาน เพลงประกอบที่ได้รับความนิยมมากจากละครทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ Cabaret, May be this time, Don’t cry for me Argentinaซึ่งประพันธ์โดยเจ้าพ่อแห่งวงการละครเพลง แอนดรู ลอยด์ เว๊บเบอร์

ปัจจุบันละครบรอดเวย์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาปรับใช้ให้เข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องสร้างภาพ 3 มิติ เครื่องสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติเทียม ทำให้ละครดูสมจริงสมจังมากขึ้นทุกที เป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบละครบรอดเวย์มาโดยตลอด