ลักยิ้ม

ลักยิ้ม (อังกฤษ: dimple) คือ รอยเล็ก ๆ ที่บุ๋มลงไปที่แก้ม อันมองเห็นได้ และเกิดจากเนื้อที่ทับซ้อนกัน โดยเฉพาะเมื่อเวลายิ้ม ปรกติมีอยู่ทั้งสองแก้ม และอาจมีอยู่ตลอดไปหรือชั่วคราวก็ได้[1] บางทีลักยิ้มก็มีบทบาทในการเลือกคู่[2] ในบางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงทางเอเชีย เห็นว่า ลักยิ้มเป็นเครื่องหมายแห่งความน่ารัก มีเสน่ห์ และจริงใจ[3]ลักยิ้มอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นพันธุกรรมลักษณะเด่น (dominant trait) หรือจากศัลยกรรมก็ได้[4] ลักยิ้มตามธรรมชาติเกิดจากการรูปแบบหนึ่งของกล้ามเนื้อไซโกมาติคัส เมเจอร์ (zygomaticus major muscle) ที่มีลักษณะเป็นสองแฉก (bifid) กล้ามเนื้อนี้มีจุดเกาะต้นอยู่ที่กระดูกไซโกมาติก แล้วทอดตัวลงมาแยกออกเป็นสองแฉก แฉกแรกมีจุดเกาะปลายอยู่บนมุมปาก อีกแฉกอยู่ล่าง บริเวณที่ทั้งสองแฉกแยกกันจะเกิดเป็นรอยบุ๋มคือลักยิ้ม[3]เนื่องจากความนิยมว่า ลักยิ้มเป็นสัญลักษณ์แห่งเสน่ห์ดังว่ามาแล้วนั้น จึงมีผู้คนหลายคนที่ไม่มีลักยิ้มใฝ่หาลักยิ้มโดยวิธีศัลยกรรม[4] การศัลยกรรมลักยิ้มมีชื่อว่า dimple reconstruction (การสร้างลักยิ้มขึ้นใหม่)[4] โดยแพทย์จะผ่าตัดเนื้อในช่องปาก เพื่อให้เกิดช่องว่าง แล้วเย็บ เพื่อทำให้เกิดรอยออกไปยังแก้มภายนอก เป็นลักยิ้ม[5] ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาประมาณสามสิบนาที ทำแผลอีก 3-4 วัน และกระพุ้งแก้มจะบวมได้นานถึงสองสัปดาห์ก่อนยุบเป็นปกติ[5] มีรายงานว่า ลักยิ้มที่สร้างขึ้นแบบนี้ ในระยะแรกจะปรากฏอยู่ตลอดเวลา ทั้งเวลายิ้มและไม่ยิ้ม จึงดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านไปหลาย ๆ เดือน จะค่อยดูดีขึ้นเอง[5] ทั้งยังมีการอ้างด้วยว่า ศัลยกรรมนี้ "มีโอกาสในการเกิดผลเสียค่อนข้างต่ำมาก"[6]ในประเทศไทยช่วงต้นถึงกลางพุทธทศวรรษที่ 2550 ศัลยกรรมเช่นว่านี้เป็นที่นิยมระดับหนึ่ง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะดูดีเหมือนดารานักแสดง ประกอบกับมีดาราบางคนกล่าวว่าชอบใจในเพศตรงข้ามที่มีลักยิ้ม[7] อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่ารัฐควบคุมศัลยกรรมนี้อย่างเฉพาะเจาะจง มีเพียงการที่สถานพยาบาลของรัฐที่รับทำจะจัดการให้คำแนะนำเป็นแห่ง ๆ ไป เช่น บางคลินิกจะอธิบายให้ทราบถึงผลดีผลเสียของการสร้างลักยิ้มขึ้นใหม่ ตลอดจนทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการในเรื่องขนาดและจำนวนของลักยิ้ม เพราะหวังจะได้ความพอใจของผู้ใช้บริการ[6]