อัตลักษณ์ ของ ลาวครั่ง

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวลาวครั่งที่สามารถแบ่งแยกได้ทันทีที่พบคือ ภาษาพูด ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสูง ชาวลาวครั่งมักเรียกตัวเองตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า “ลาวขี้คัง”หรือ“ลาวคัง” นอกจากนั้น ยังมีวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ประเพณียกธง ที่ยังยึดถือและสืบต่อปฏิบัติกันมาโดยจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี และประเพณีขึ้นศาลจ้าวนาย ชาวลาวครั่งจะมีความผูกพันทางเครือญาติสูงมาก ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่มีการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์และการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับประเพณียกธงนั้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่น

การแต่งกาย

ในชีวิตประจำวันจะแต่งกายตามปกติ ยกเว้นในการจัดงานประเพณีหรืองานที่มีการรวมกลุ่มที่เป็นงานซึ่งแสดงออกถึงการรวมกลุ่มกัน ซึ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะหรือการรับแขกคนสำคัญของท้องถิ่น ผู้ชายจะมีผ้าขาวม้าคาดเอวเป็นลายตารางหมากรุก 5 สี ส่วนผู้หญิงจะมีการแต่งกายด้วยผ้าทอมัดหมี่ ต่อผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนตัวผ้าซิ่น นิยมทอด้วยผ้ามัดหมี่ทอแซมสลับกับการ “ทอแบบขิด”เป็นลายทางเล็กๆสีเหลืองหรือสีขาวคั่นระหว่างผ้ามัดหมี่เพื่อแบ่งช่องลวดลายผ้าสลับเน้นลวดลาย วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม หรือใยสังเคราะห์ ส่วนสีแดงนั้นใช้เป็นลายซิ่นหรือเรียกกันว่าตีนซิ่น