คำศัพท์และสำนวนภาษา ของ ลิลิตโองการแช่งน้ำ

โองการแช่งน้ำเป็นวรรณคดีที่ใช้คำเก่า แต่เป็นคำไทยแท้เป็นส่วนมาก ทำให้อ่านเข้าใจยาก ทำให้นักวิจารณ์สับสน ซึ่งแตกต่างจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาบาลีหรือสันสกฤต ที่สามารถสืบหาความหมายได้ง่ายกว่า เช่น ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งใช้คำศัพท์บาลีสันสกฤตปะปนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำริ ว่า "โองการแช่งน้ำนี้เรียกว่า โคลง เขียนเป็นหนังสือพราหมณ์ แต่เมื่อตรวจดูจะกำหนดเค่าว่าเป็นโคลงอย่างไรก็ไม่ได้สนัด ได้เค้า ๆ บ้างแล้วก็เลือนไป แต่เนื้อความนั้นเป็นภาษาไทย ถอยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี..." ("พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล", พระราชพิธีสิบสองเดือน)

คำศัพท์ในโองการแช่งน้ำมีการผสมผสาน เริ่มตั้งแต่คำศัพท์บาลีและสันสกฤต โดยเฉพาะในช่วงต้นที่เป็นการบูชาเทพเจ้าทั้งสาม เช่น โอม สิทธิ มฤตยู จันทร์ ธรณี เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ไทยโบราณ มีลักษณะของคำโดดพยางค์เดียวเป็นส่วนใหญ่ หลายคำปรากฏอยู่ในเอกสารภาษาไทย และจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัย และอยุธยา นอกจากนี้ยังปรากฏคำในภาษาถิ่นของไทยด้วย เช่น สรวง แผ้ว แกล้ว แล้งไข้ แอ่น แกว่น ฯลฯ

สำหรับคำเขมรนั้นปรากฏไม่มากนัก เช่น ถวัด แสนง ขนาย ขจาย ฯลฯ

ในส่วนของสำนวนภาษานั้นมีลักษณะการแช่งที่ปรากฏทั่วไปในสังคมไทย เช่น "ขอให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี"