ที่มา ของ ลิเกฮูลู

มีผู้ให้ที่มาของดิเกฮูลูเอาไว้หลายสำนวน ในที่นี้จะขอหยิบยกออกมา 2 สำนวน กล่าวคือ หนึ่ง ตามสำนวนที่รับรู้กันโดยทั่วไป มีผู้รู้บางท่านได้ศึกษาไว้ว่าดิเก (Dikir) มีรากศัพท์มาจากคำว่าซี เกร์ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ หมายถึงการอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่าใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึงการขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้1 ท่านผู้รู้ยังได้กล่าวไว้อีกว่า ลิเกฮูลูน่าจะเกิดขึ้นเริ่มแรกที่อำเภอรามัน ซึ่งไม่ทราบแน่ว่าผู้ริเริ่มนี้คือใคร ข้อสนับสนุนก็คือชาวปัตตานีเรียกคนในอำเภอรามันว่าคนฮูลู ในขณะที่คนมาเลเซียเรียกศิลปะนี้ว่า "ลิเกปารัต" ซึ่งปารัต แปลว่าเหนือ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่า ดิเกฮูลู หรือดิเกปารัตนี้มาจากทางเหนือของมาเลเซียและทางใต้ของปัตตานี2 ซึ่งก็คือบริเวณอำเภอรามัน จังหวัดยะลา

และสำนวนที่สอง จากการศึกษาของประพนธ์ เรืองณรงค์ ในหนังสือ "บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้"3 คำว่าลิเก หรือลิเก ในพจนานุกรม Kamus Dewan พิมพ์โดยสมาคมภาษาและหนังสือประเทศมาเลเซียเรียกลิเกเป็นดิเกร์เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีสองความหมายคือ เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติเป็นการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันกำเนิดพระนะบีมุฮัมมัด ชาวมุสลิมเรียกงานเมาลิด เรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า "ดิเกเมาลิด"

นอกจากนี้ดิเกยังหมายถึงกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่ากันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ โดยมีไม้ไผ่มาตัดท่อนสั้นแล้วหุ้มกาบไม้ข้างหนึ่งทำให้เกิดเสียงดัง แล้วร้องรำทำเพลงขับแก้กันตามประสาชาวป่า (ว่ากันว่าไม้ไผ่หุ้มกาบไม้นี้ได้กลายเป็นบานอ หรือรือปานา หรือรำมะนาที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้)

ประพนธ์ เรืองณรงค์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ดิเกน่าจะมาจากความหมายที่สอง คือกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งเป็นการร้องเพลงลำตัดภาษาอาหรับ ที่เรียกว่า "ซีเกร์มีรฮาแบ" การร้องเป็นภาษาอาหรับ ถึงแม้จะไพเราะแต่คนไม่เข้าใจ จึงนำเอาเนื้อเพลงภาษาพื้นเมือง ซึ่งก็คือภาษายาวีตีเข้ากับรำมะนา จึงกลายเป็นดิเกฮูลูมาตราบเท่าปัจจุบัน

และการแสดงประเภทนี้น่าจะมีขึ้นครั้งแรก ณ ท้องที่เหนือลำน้ำอันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปัตตานี ซึ่งชาวบ้านเรียกฮูลู หรือทิศฮูลู (ฝ่ายใต้ลำน้ำเรียกฮิเล) ตรงทิศฮูลูเป็นแหล่งกำเนิดฮูลูนั้น เข้าใจว่าคือท้องที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และอำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ดิเกฮูลูคณะหนึ่งๆ จะมีสมาชิกประมาณ 10 กว่าคน เป็นชายล้วน เป็นผู้ขับร้องต้นเสียง 1-3 คน ที่เหลือจะเป็นลูกคู่ และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้

บทกลอนที่ใช้ขับร้องนั้น เรียกเป็นภาษามลายูท้องถิ่นว่าปันตน หรือปาตง เวลาแสดงใช้ขับกลอนโต้ตอบ ไม่ได้แสดงเป็นเรื่องราวดังเช่นการละเล่นพื้นบ้านอย่างอื่น เช่น มะโย่ง หรือมโนห์รา