การแข่งขันและสถิติ ของ ลูกบาศก์ของรูบิก

มีการจัดการแข่งขันการปั่นลูกบาศก์ (speedcubing) เพื่อหาผู้ที่สามารถแก้ปัญหาลูกบาศก์ของรูบิกได้เร็วที่สุด การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงบูดาเปสต์ ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1982 ผู้ชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนั้นคือ มิน ไท (Minh Thai) นักศึกษาชาวเวียดนามจากนครลอสแอนเจลิส โดยใช้เวลา 22.95 วินาที

สถิติโลกอย่างเป็นทางการที่ยอมรับโดยสมาคมลูกบาศก์โลก (World Cube Association) ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมการจัดการแข่งขันและสถิติ สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกได้เร็วที่สุดอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ 3.47 วินาที โดย Yusheng Du ในการแข่งขัน Wuhu Open 2018[3] ส่วนสถิติในเวลาเฉลี่ย 5 ครั้ง คือ 5.53 วินาที โดย Feliks Zemdegs ในการแข่งขัน Odd Day in Sydney 2019[4]

สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกด้วยมือเดียว (one-handed) ได้เร็วที่สุดอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ 6.82 วินาที โดย Max Park ในการแข่งขัน Bay Area Speedcubin' 20 2019[5] ส่วนสถิติในเวลาเฉลี่ย 5 ครั้ง คือ 9.42 วินาที โดย Max Park ในการแข่งขัน Berkeley Summer 2018[6]

สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกโดยปิดตาแก้ (blindfolded) ได้เร็วที่สุดอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ 15.50 วินาที โดย Max Hilliard ในการแข่งขัน CubingUSA Nationals 2019[7] ส่วนสถิติในเวลาเฉลี่ย 3 ครั้ง คือ 18.18 วินาที โดย Jeff Park ในการแข่งขัน OU Winter 2019[8]

สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกโดยปิดตาแก้เป็นจำนวนหลายลูก (multi-blind) อย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ ปิดตาเล่นเป็นจำนวน 59/60 ลูกและทำเวลาไปได้ 59:46 นาที โดย Graham Siggins ในการแข่งขัน OSU Blind Weekend 2019[9]

สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกด้วยเท้าได้เร็วที่สุดอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ 15.56 วินาที โดย Mohammed Aiman Koli ในการแข่งขัน VJTI Mumbai Cube Open 2019[10] ส่วนสถิติในเวลาเฉลี่ย 5 ครั้ง คือ 19.90 วินาที โดย Lim Hung ในการแข่งขัน Medan 10th Anniversary 2019[11]

สถิติการแก้ลูกบาศก์ของรูบิกโดยการใช้จำนวนครั้งในการบิดให้น้อยที่สุด (fewest moves) อย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ บิด 16 ครั้ง โดย Sebastiano Tronto ในการแข่งขัน FMC 2019[12]

นอกจากนี้ยังมีสถิติอื่นที่ไม่เป็นทางการที่ใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการจัดการแข่งขันและจับเวลาที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นมีเพียงสถิติที่ได้รับการรับรองจากสมาคมลูกบาศก์โลกเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป

ในปี ค.ศ. 2004 สมาคมลูกบาศก์โลกได้จัดทำมาตรฐานใหม่โดยใช้อุปกรณ์จับเวลาที่เรียกว่า นาฬิกาจับเวลาสแต็กแมต (StackMat timer)

ค.ศ. 2007 คาวาซากิเฮฟวีอินดรัสทรีส์ (Kawasaki Heavy Industries) ผู้ผลิตเครื่องจักรของญี่ปุ่น โชว์ตัวหุ่นยนต์ชื่อ "Cube-kun" ที่มีความสามารถการเล่นรูบิกได้อย่างรวดเร็ว [13]

การแข่งขันในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่จัดโดยสมาคมลูกบาศก์โลก คืองาน NSM Thailand 2009 ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนั้นคือ ปิติ พิเชษฐพันธ์ ทำเวลาเฉลี่ยไว้ที่ 12.43 วินาที นับว่าเป็นสถิติแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย (Asian Championship) ในปี 2010 และงานแข่งขันชิงแชมป์โลก World Championship ในปี 2011 สถิติของประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ 5.50 วินาที ณัฐภัทร จี มาทานี ในการแข่งขัน THC 2017[14] ส่วนสถิติในเวลาเฉลี่ย 5 ครั้ง คือ 7.42 วินาที เอเชีย กรวิทยโยธิน ในการแข่งขัน Singapore Cube Championship 2019[15]