ประวัติ ของ ลู่เจียจุ่ย

การก่อตัวและที่มาของชื่อ

ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของลู่เจียจุ่ย ถ่ายจากเครื่องบิน

ตามพงศาวดารท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้ แม่น้ำหวงผู่ถูกขุดให้เชื่อมกับแม่น้ำซูโจวเมื่อประมาณช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช ประกอบกับโครงการขุดลอกขยายแม่น้ำหวงผู่ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงทำให้แม่น้ำหวงผู่กว้างขึ้นและลดความสำคัญของแม่น้ำหวู่ซง (แม่น้ำซูโจว) การไหลหักโค้งในมุมหักศอกเมื่อผ่านเวลาทำให้คุ้งน้ำต้องปรับสภาพเป็นโค้งและสะสมตะกอนกลายเป็นหัวแหลมที่ยื่นออกเรื่อย ๆ (หาดทราย) เมื่อมองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำผู่เจียงไปยังฝั่งตรงข้าม หรือจากมุมสูง แหลมทรายนี้ดูคล้ายปากขนาดใหญ่ (嘴; จุ่ย แปลว่า ปาก ในที่นี้คือการบ่งบอกลักษณะภูมิประเทศคือ แหลม) ของสัตว์ร้ายที่ยื่นออกขณะกำลังดื่มน้ำ และแหลมแห่งนี้ยังเคยเป็นที่บ้านของ ลู่ เชิน กวีแห่งราชวงศ์หมิงซึ่งเกิดและเสียชีวิตที่นี่ และครอบครัว รวมถึงศาลบรรพชนตระกูลลู่ จึงมีชื่อเรียก "ลู่เจีย"จุ่ย ("陆家"嘴 บ้านตระกูลลู่)[3][4]

การตั้งถิ่นฐาน

ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงและต้นราชวงศ์ชิง บันทึกว่ามีชาวประมงอาศัยอยู่กระจัดกระจายทางตะวันตกเฉียงใต้และตอนกลางของลู่เจียจุ่ย [5] ในรัชสมัยเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง การก่อสร้างเขื่อนำป้องกันน้ำท่วมและต้านกระแสน้ำเค็มบนแหลมทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากขึ้น เป็นหมู่บ้านหลายแห่งภายในกำแพงเขื่อน โดยที่ราบลุ่มยังคงอยู่นอกเขื่อน หมู่บ้านเหล่านี้ได้แก่ เกาเซียงปัง, เซี่ยเจียปัง, หยางเจียเหมา, หยูเจียเหมิน, หวังเจียเหมิน, อู๋เจียหลง เป็นต้น

การเปิดเซี่ยงไฮ้ในฐานะท่าเรือตามสนธิสัญญาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของลู่เจียจุ่ย ในฐานะพื้นที่อุตสาหกรรมและการค้าที่ให้บริการเซี่ยงไฮ้ ตอนกลางของแหลมกลายเป็นเมืองที่เรียกว่า ล่านหนีตู้ (烂泥渡 แปลตามตัวอักษรว่า "ท่าข้ามเลนเน่า") ซึ่งตั้งชื่อตามท่าเทียบเรือแห่งหนึ่งบนฝั่งแม่น้ำ ชาวอังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ได้สร้างโรงงาน โกดัง ลานจัดเก็บ และท่าเทียบเรือเพื่อให้บริการ และพัฒนาเป็นถนนย่านการค้าอันพลุกพล่าน เพื่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้ายังชีพ และบริการแก่คนงานจำนวนมากที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

การพัฒนาร่วมสมัย

ในปี พ.ศ. 2529 ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลจีน ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาผู่ตงเป็นครั้งแรก รวมถึงสภาแห่งรัฐได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์กลางการเงินและการค้าแห่งใหม่ขึ้นในลู่เจียจุ่ย[6] นโยบาย "การพัฒนาและเปิดกว้างผู่ตง" (浦东开发开放) ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ในปีเดียวกันตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้ก่อตั้งขึ้น ผู่ตงถูกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจากอดีตนิคมอุตสาหกรรมไปสู่ศูนย์กลางการเงินและการพาณิชย์ ลู่เจียจุ่ยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเซี่ยงไฮ้ เช่นเดียวกับตึกระฟ้าที่สร้างขึ้นจำนวนมาก เช่น หอไข่มุกตะวันออก, ศูนย์การเงินโลกเซี่ยงไฮ้, จินเม่าทาวเวอร์ และ เซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2015 เขตการเงินและการค้าลู่เจียจุ่ย ได้ถูกรวมอยู่ในขอบเขตของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้อย่างเป็นทางการ[7] (Shanghai Free Trade Zone - SFTZ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลู่เจียจุ่ย http://house.china.com.cn/commercial/view/70967.ht... http://www.fungglobalinstitute.cn/zh-hans/%E9%99%8... http://gov.pudong.gov.cn/pudongNews_YWYQ/Info/Deta... http://lujiazui.pudong.gov.cn/zjljz_jrcjj/2011-11-... http://www.shanghai.gov.cn/shanghai/node2314/node2... http://www.dfdaily.com/html/136/2013/10/22/1080666... http://news.xinhuanet.com/chanye/2015-01-19/c_1114... https://baike.baidu.com/item/%E9%BB%84%E6%B5%A6%E6... https://www.huxiu.com/article/254124.html https://www.jianshu.com/p/645efedc8bdb