วังสวนสุนันทา
วังสวนสุนันทา

วังสวนสุนันทา

สวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า[1] จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน"[2] และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ แต่ทว่าพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การก่อสร้างพระตำหนัก และตำหนักในสวนสุนันทาจึงมาเริ่มการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงพระราชดำริว่าสถานที่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในคับแคบ ไม่เหมาะสมจะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักและตึกในบริเวณสวนสุนันทาขึ้นอีกหลายหลัง[3] แล้วโปรดให้เป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 32 ตำหนัก ซึ่งมีพระตำหนักองค์สำคัญๆ 4 หลังได้แก่ พระตำหนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา แต่ทว่าพระตำหนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงนั้นได้มีการหยุดการก่อสร้างเมื่อมีการก่ออาคารมาถึงฐานอันเนื่องมาจากทรงโปรดที่จะประทับที่พระตำหนักพญาไท จึงได้มีการแก้แบบและก่อสร้างเป็นท้องพระโรงมีนามว่า พระที่นั่งนงคราญสโมสร ส่วนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จมาประทับที่พระตำหนักในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเสด็จไปประทับที่วังของพระราชโอรสเป็นการถาวร โดยพระราชทานพระตำหนักเป็นที่ประทับแก่เจ้านายที่อยู่ในความดูแลของพระองค์ จึงทำให้พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เป็นองค์ประธานของสวนสุนันทาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472 ระหว่างที่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดายังทรงพระชนม์อยู่นั้น บรรดาขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมนำบุตรี และหลานของตนมาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอ เป็นจำนวนมาก พระวิมาดาเธอ จึงทรงให้สร้าง "โรงเรียนนิภาคาร"[4] ขึ้นภายในสวนสุนันทา สอนตามหลักสูตรการศึกษาในสมัยนั้น รวมทั้งอบรมจริยา มารยาท การฝีมือ ให้เป็นกุลสตรีครั้นถึงปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ในสวนสุนันทาหวั่นเกรงภัยจากการเมือง จึงได้ทะยอยกันออกไปจากสวนสุนันทาจนหมดสิ้น บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ โรงเรียนนิภาคารจึงเลิกดำเนินการไปโดยปริยาย นับแต่นั้นมาสวนสุนันทาที่เคยงดงามก็ถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ตำหนักต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก พื้นที่ภายในรกร้างว่างเปล่า ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นว่าสวนสุนันทาถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่มิได้ทำประโยชน์ จึงเห็นสมควรให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยของรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรขอเพียงพื้นที่ภายนอกกำแพงติดถนนสามเสนสร้างเป็นบ้านพักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเห็นสมควรว่า ควรใช้สถานที่นี้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและมอบให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นสถานศึกษาของชาติ และสถานที่ศึกษานี้ให้ชื่อโดยคงชื่อเดิมของสถานที่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ โดยขนานนามว่า "โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย" เริ่มเปิดการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมาต่อมาในปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูสวนสุนันทา" ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "สถาบันราชภัฏ" เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ แต่ยังไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูสวนสุนันทาจึงมีชื่อเป็น "สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา"[5] อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้สถาบันราชภัฏสวนสุนันทายกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา