ประวัติวัดกลางสุรินทร์ ของ วัดกลางสุรินทร์

ภูมิศาสตร์เมืองสุรินทร์ ก่อนกล่าวถึงเรื่องวัดกลาง ใคร่กล่าวถึงภูมิศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อันเป็นมูลแห่งการสร้างวัดกลางตามควรแก่กรณีเมืองสุรินทร์เป็นเมืองโบราณ มีชื่อเรียกว่า คูประทาย หรือ ไผทสมัน มีกำแพงและคูล้อมชั้นใน เป็นรูปวงกลม วัดผ่าศูนย์กลางจากตะวันออกสู่ตะวันตกประมาณ 22 เส้นจากทิศเหนือจดใต้ประมาณ 26 เส้น มีกำแพงและคูชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมวงรี ๆ รวมเป็นกำแพง 2 ชั้น ภูมิประเทศภายในเขตกำแพงชั้นในส่วนมากเป็นที่ลุ่ม บางแห่งมีน้ำขังอยู่ตลอดฤดูหนาว ที่เป็นเนินมีบริเวณจากซอยตาดอกทอดไปทางทิศตะวันออกจดวัดบูรพารามด้านทิศใต้แค่บริเวณถนนหลักเมือง เนินที่สูงสุดตรงบริเวณทิศใต้ตลาดเทศบาล ชาวบ้านเรียกคนแถบนี้ว่า “คุ้มโคกสูง”วัดที่มีอยู่ในตัวเมืองสุรินทร์ ที่เป็นวัดโบราณเก่าแก่มี 9 วัด ที่สร้างขึ้นใหม่เฉพาะในเขตเทศบาลมี2 วัด วัดทั้ง 10 นี้ตั้งอยู่ดังนี้

วัดกลางและวัดบูรพาราม ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงชั้นใน วัดจำปา, วัดศาลาลอย วัดจุมพลสุธาวาส, วัดพรหมสุรินทร์ และวัดโคกบัวราย (ตั้งใหม่) ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงชั้นนอกและวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงชั้นนอกมี วัดหนองบัว, วัดประทุมเมฆ และวัดเทพสุรินทร์ (สร้างใหม่) วัดทั้ง 8 ล้วนเป็นวัดโบราณไม่มีประวัติจารึกว่า วัดใดสร้างขึ้นเมื่อใดแน่นอนอนึ่ง ภายในเขตกำแพงและคูเมืองชั้นใน มีที่พอสันนิษฐานว่า เคยเป็นวัดมาก่อน 4 แห่งคือ

  1. ในพื้นที่บริเวณตั้งโรงเรียนสุรินทร์ราษฏร์บำรุง มีซากอิฐเก่าแก่มาก่อนเคยมีต้นโพธิ์ปรากฏมาแต่เดิม ชาวบ้านแห่งนี้ว่า ”โคกโพธิ์”
  2. ในพื้นที่ตั้งโกลเด้นท์ไนคลับ มีซากอิฐเป็นมาก่อน บางคนว่าเคยเป็นวัดบางคนว่า น่าจะเป็นเทวาลัย เพราะมีอิฐกองเป็นกลุ่มขนาดย่อม ชาวบ้านเรียกที่แห่งนี้ว่า “โพธิ์ร้าง” ขณะนี้ต้นโพธิ์ยังมีอยู่
  3. ที่ตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ เคยมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีซากอิฐมาก่อนผู้แก่ผู้เฒ่าเล่ากันว่า เป็นวัดมาก่อน แต่ย้ายออกไปทางทิศใต้ พ้นเขตกำแพงชั้นนอกและต่อมาก็ย้ายกลับมาภายในกำแพงชั้นนอก คือวัดจุมพลสุทธาวาสปัจจุบันนี้ ณ ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “โคกโพธิ์สามต้น”
  4. ณ ที่เนินนอกกำแพงชั้นใน ตรงใกล้มุมกำแพงเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้เคยเป็นวัดมาก่อนเรียกว่า วัดศาลาแดง ต่อมาวัดนี้ย้ายขยับมาทางทิศตะวันออก คือวัดพรหมสุรินทร์ปัจจุบันนี้ ที่บริเวณวัดศาลาแดง ทางวัดพรหมสุรินทร์ ถือว่าเป็นธรณีสงฆ์ของวัด แต่ชาวบ้านก็ยึดครองปลูกบ้านเรือนอยู่ ไม่ยอมรับรู้ว่าเป็นธรณีสงฆ์ของวัด

การก่อตั้งวัดกลางสุรินทร์ วัดกลางสุรินทร์ ได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้าง เจ้าอาวาสองค์แรกและองค์ต่อ ๆ มามีชื่ออย่างไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแต่สถานที่ตั้งวัดนั้นพอมีเหตุผลที่น่าเชื่อดังนี้เมืองสุรินทร์มีกำเนิดมาแต่ครั้งใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า หลายร้อยปีมาแล้วโดยมีชื่อเดิมว่า ไผทสมัน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2306 เชียงปุมซึ่งเดิมอยู่บ้านเมืองที ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทร์ภักดี และย้ายมาอยู่ที่ไผทสมัน เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าเมืองสุรินทร์ ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในการอพยบครั้งแรก สันนิษฐานว่า ได้เริ่มกำหนดตั้งสถานที่หลักเมืองขึ้นโดยถือเนื้อที่ส่วนกลางของเมืองจริง ๆ กล่าวคือประมาณอาณาเขตภายในคูกำแพงเมืองชั้นใน จากทิศตะวันออกจดทิศตะวันตก และจากทิศเหนือจดทิศใต้ มีศูนย์กลางตรงที่ตั้งหลักเมืองในปัจจุบันพอดี ถนนสายนี้เกิดขึ้นในสมัยหลังส่วนจวนเจ้าเมืองนั้น ตั้งเยืองจากศาลเจ้าหลักเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงบริเวณตลาดเก่า ตรงหน้าวัดกลางปัจจุบัน หรือบริเวณหลังโรงแรมโมเมเรียลทั้งหมดเป็นบริเวณจวนเจ้าเมืองมาแต่เดิม แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่ของเอกชนหมดแล้ววัดกลาง น่าจะเริ่มได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยนี้ ทั้งนี้เนื่องจากตั้งในเนื้อที่แนวเดียวกับจวนเจ้าเมือง ด้านทิศตะวันออกขนานกับจวนเจ้าเมือง โดยมีทางขั้นกลางระหว่างจวนเจ้าเมืองกับวัด ปัจจุบันทางสายนี้ คือถนนธนสารซึ่งเป็นทางสายเดียว ที่ตัดกลางเมืองทอดจากกำแพงด้านเหนือจดด้านใต้ และมีถนนสายหลักเมืองผ่ากลางจากตะวันออกสู่ตะวันตก ตัดกันเป็นสี่แยกหลักเมือง ถนนสองสายนี้เป็นถนนดังเดิมของเมืองสุรินทร์การวางผังเมืองของเจ้าเมืองสุรินทร์ เข้าใจว่า ได้เพ่งถึงจุดศูนย์กลางของตัวเมืองและสร้างจวนในบริเวณดังกล่าว ที่แห่งนี้เป็นเนินสูง

  • ข้อยืนยันว่าเจ้าเมืองคนแรกสร้างวัดกลางสุรินทร์

ข้อยืนยันว่า เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกเป็นผู้สร้างวัดกลางสุรินทร์ มีเหตุผลประกอบดังนี้

หลังจากเชียงปุมได้รับพระราชทานยศและตำแหน่ง กลับมาสู่บ้านเดิมที่เมืองที และเห็นว่าที่บ้านเมืองทีเป็นบ้านเล็ก ชัยภูมิไม่เหมาะสมจึงย้ายมาตั้งเมืองที่คูประทาย เมื่อกำหนดที่ตั้งจวนแล้วก็วางผังการสร้างวัดเคียงข้างกับเขตจวน ทางทิศตะวันออกการตั้งวัดนี้ น่าจะเป็นการเลียนแบบข้าราชการทหารในสมัยนั้น ที่กลับจากการทำศึกสงครามก็มีการสร้างวัด ซึ่งการสร้างวัดนี้แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ก็สร้างมาก ข้าราชบริพารก็สร้างเช่นกัน จนมีคำกล่าวในสมัยนั้นว่า “สร้างวัดให้ลูกเล่น” เจ้าเมืองสุรินทร์ได้สร้างวัดขึ้นเป็นความนิยมตามสมัยนั้น เป็นการเลียนแบบจากส่วนกลางก็ได้เจ้าเมืองอาจตั้งความประสงค์ว่า เมื่อสร้างเมืองก็สร้างวัดเป็นคู่บ้านคู่เมืองด้วย จึงกำหนดพื้นที่วัดกลางติดกับเขตจวนการปฏิบัติราชการในสมัยนั้น ไม่มีศาลากลางเป็นเอกเทศใช้จวนเป็นที่ราชการด้วย เมื่อมีการชุมนุมเรื่องข้าราชการก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ชุมนุมเป็นความสะดวกสบายโดยตลอด วัดกลางได้เป็นที่ร่วมประชุมของทางราชการตลอดในสมัยนั้น รวมทั้งการระดมพลตามที่กล่าว ณ เบื้องต้นว่า เรื่องมีปรากฏซากอิฐเก่าที่ “โคกโพธิ์” คือบริเวณตั้งโรงเรียนราษฎร์บำรุงว่า เคยเป็นที่ตั้งวัดมาแต่เดิม เมื่อพระสุรินทร์มาสร้างเมืองแล้วเมื่อมีการวางผังเมืองและกำหนดที่วัด โดยท่านเจ้าเมืองอาจโยกย้ายวัดนี้มาตั้งเป็นวัดกลางก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลตามคติพื้นบ้านถือว่า การสร้างวัดต้องให้อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จึงจะเป็นมงคล วัดอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ถือว่าเป็นอัปมงคล วัดอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้หมู่บ้านไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย อาจจะเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองสร้างจวนอยู่ทางทิศตะวันออกวัด จึงย้ายวัดจากทิศตะวันตกมาตั้งทิศตะวันออก แต่ทั้งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานอาจจะร้างไปเอง และวัดกลางก็อาจตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ แต่เหตุผลที่ยืนยันมานั้นพอกล่าวได้ว่า วัดกลางเกิดในสมัยพระสุรินทร์คนแรกแน่นอน เพราะปรากฏเรื่องของเจ้าเมืองดังกล่าวแล้ว


วัดกลางสุรินทร์ ได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมา

วัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๒ ตอนที่ ๒๔ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๘ ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘ และบัญชีรายชื่อวัดที่ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ ๑ ประจำปี ๒๕๐๘ ลำดับที่ ๙๔ วัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กำหนดเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๒ ตอนที่ ๒๔ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๘ ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒[2]


ประเพณีที่เกิดขึ้นในวัด

วัดกลางสุรินทร์มีอุโบสถ สร้างด้วยอิฐโบกปูนแบบโบราณ ไม่มีปูนซีเมนต์เช่นปัจจุบัน เป็นโครงสวยงามในสมัยโบราณมาแล้ว วัดกลางเป็นศูนย์งานราชการ เช่นการเกณฑ์คนมาเพื่อกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์ทหารเป็นต้น งานประเพณีของชาวบ้านที่ต้องชุมนุม และที่เกี่ยวกับด้านศาสนาดังนี้

  1. ประเพณีการบวชนาค ในแต่ละปีนาคในเขตเมืองและจากตำบลต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงมีการนัดบวชพร้อมกัน โดยเจ้าเมืองเป็นผู้นัด ปกติก็นัดตั้งขบวนแห่ตระเวน ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เจ้าเมืองมีการเกณฑ์ช้าง ประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยเชือก แห่ไปสมทบที่ต่าง ๆ หนึ่งวันเป็นที่สนุกสนาน มีขบวนม้าล่อช้าง เกิดทั้งความสนุกสนานตื่นเต้น ตอนค่ำก็ทำพิธีเรียกขวัญ และเจริญพระพุทธมนต์สมโภช รุ่งเช้าขบวนในเมืองก็แห่ไปรับนาคจากข้างนอก เมื่อสมทบพร้อมกันแล้ว แห่ตระเวนนอกเมืองประมาณบ่าย นาคทั้งหลายก็พร้อมกันกราบลาเจ้าเมือง แล้วเข้าบวช เสร็จตอนดึกเลยเที่ยงคืนก็มีชาวบ้านเรียกการบวชนาคนี้ว่า “นาคหลวง วัดกลางถือว่าเป็นวัดหลวง” เพราะเป็นที่รวมชุมชนทุกอย่าง โดยเจ้าเมืองเป็นประธานในงานทุกอย่าง
  2. ประเพณีสงกรานต์ เมือถึงเดือน 5 ชาวบ้านทุกคุ้มในเมืองร่วมขนทรายก่อเจดีย์ ณ วัดกลาง เป็นการประกวดประชันกันในการแต่งเจดีย์ทราย วันขึ้น 14 ค่ำ เป็นวันแต่งเจดีย์ทรายและสมโภช รุ่งเช้าทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายเริ่มสรงน้ำพระโดยตระเวรไปตามวัดต่าง ๆ แล้วมารวมกัน ณ วักลางสุรินทร์ มีการละเล่นต่าง ๆ มีเล่นตรุษรำสาก เจรียง จรวง เจรียงนอระแก้ว เล่นซ้อนผ้าและสะบ้า ระหว่างหนุ่มสาวเป็นที่ครื้นเครง เป็นประจำทุกปี
  3. ประเพณีวันสารท วันดับเดือน 10 ถือว่าเป็นวันสารท หลังจากการทำบุญจากทุกวัดก็มาชุมนุมกัน มีการกีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักคะเย่อระหว่างหนุ่มสาว บางครั้งหนุ่ม ๆ อริก็เรียกตัวมาชกมวยกัน เป็นทั้งมวยธรรมดาและขึงเป็นเขตให้ชก หลังจากนั้นก็แนะนำให้มีความสามัคคีกัน เลิกโกรธแค้นพยาบาทกัน วัดกลางเหมือนสนามศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
  4. พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หลังจากสมัยเจ้าเมืองคนแรก วัดกลางยังเป็นศูนย์รวมประเพณีต่าง ๆ แม้ในสมัยต่อมาเมื่อทางราชการมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก็ได้มาประกอบพิธี ณ วัดกลางเป็นเวลาหลายปี สมัยต่อมาวัดกลางก็ถึงความเจริญบ้าง เสื่อมบ้างตามยุคสมัย กล่าวคือยุคใดเจ้าอาวาสมีความสามารถในการปกครองวัด และฝ่ายบ้านเมืองให้ความอุปถัมภ์มั่นคง ก็มีความเจริญขึ้น สมัยใดขาดเจ้าอาวาสที่ทรงคุณ ก็ขาดผู้อุปถัมภ์ สมัยนั้นก็ตกอยู่ในสภาพร่วงโรย บางสมัยก็ว่างพระเหลือแต่เณร บางสมัยก็ว่างหมด วัดร่วงโรยถึงที่สุดเป็นครั้งคราว
  5. ประเพณีกวนข้าวทิพย์ลอยฟ้า วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษา 3วัน ของทุกปี
  6. ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดกลางสุรินทร์ และ อุบาสกอุบาสิกาคุ้มวัดกลางสุรินทร์ ได้จัดต้นเทียนร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาประจำทุกปี
  7. ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในเวลา ๑๘.๓๐ น. ของวันเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี เพื่อนิมนต์พระภิกษุที่อยู่ในอาวาสวัดกลางสุรินทร์เข้าจำพรรษา
  8. ประเพณีกันสงฆ์ (กิจกรรมทำบุญอุทิศต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 12 วัน) วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นในเดือนตุลาคม ของทุกปี
  9. งานนมัสการพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้าง วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  10. งานนมัสการพระพุทธสุรินทรพร ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

อาณาบริเวณของวัดกลางสุรินทร์ ในสมัยก่อนมีความกว้างขวาง จดเขตติดต่อถึงวัดบูรพาราม แต่เนื่องจากความล้มลุกคลุกคลานของวัดประกอบด้วยการครอบครองที่ดินของวัดด้วยมือเปล่า เมื่อทางราชการได้มีการวางผังเมืองขึ้น ที่ดินของวัดมีสภาพรกร้างว่างเปล่าครอบครองไม่ทั่วถึง ทางราชการได้ถือเอาที่ดินทางบริเวณทิศใต้สระของวัดทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงยุติธรรม คงปล่อยเพียงสระน้ำให้เป็นของวัด โดยที่ไม่มีใครชี้แจงคัดค้านชี้แนวเขตของวัดประกอบชาวเมืองสุรินทร์สมัยนั้น ก็คือชาวบ้านที่ไร้การศึกษา ไม่มีความเจริญทางภาษาที่พูด ใช้ภาษาท้องถิ่นคือภาษาเขมร ไม่มีความรู้ภาษาไทยเลย ข้าราชการในสมัยนั้นชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเจ้านายไม่กล้าคัดค้านถกเถียงข้าราชการ จะพูดอะไรได้ตามใจชอบเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ต่างจากชาวบ้าน

  • ในสมัยต่อมา "หลวงวุฒิธรรมเนติกร" มาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัด ได้ขอที่ดินปลูกโรงงานเลื่อยไม้ ขอกั้นสระน้ำเป็นที่สงวนไว้ใช้ในครอบครัวผู้พิพากษาศาลจังหวัด (ประมาณ พ.ศ. 2468-2475) และที่นี้ก็ขาดกรรมสิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง โดยที่ท่านผู้นี้ไม่ได้บอกคืนแก่วัด และวัดก็ไม่กล้าเรียกร้องคืนที่ดินส่วนนี้จึงตกเป็นราชพัสดุไปอีก 2 ตอน
  • อนึ่ง ทางทิศใต้ของวัด ก็ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน โดยที่วัดไม่ได้มีหลักฐานเรียกร้องคืนเลย ที่ดินดังกล่าวจึงถูกตัดขาดไป
  • ปัจจุบันวัดนี้มีพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา และหลังจากเกิดอัคคีภัยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2516 ทางราชการได้ขอขยายถนนธนสารด้านหน้าวัดอีกประมาณ 1 เมตรเศษตลอดแนวด้านหน้าของวัดจึงมีความจำเป็นต้องสละเพื่อความเจริญของบ้านเมือง

ใกล้เคียง

วัดกลางสุรินทร์ วัดกลางบางแก้ว วัดกลาง (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดกลางเวียง วัดกล้าชอุ่ม วัดกลางวรวิหาร วัดกลาง (อำเภอเมืองขอนแก่น) วัดกลางเกร็ด วัดกลางคลองสี่ วัดกลาง (จังหวัดกาฬสินธุ์)